โควิด-19 กระทบบัณฑิตใหม่ “ชีวิตพัง” ภาระผู้ปกครอง “ลูกเรียนออนไลน์”

งานวิจัยเผยผลกระทบโควิด-19 เพียบ บัณฑิตจบใหม่ “ฝันสลาย-ชีวิตพัง” สร้างภาระผู้ปกครอง ลูกหลานไม่มีอุปกรณ์เรียนระบบออนไลน์ ปัญหา “ยาเสพติด-พนันออนไลน์” บาน แต่มีสิ่งน่าชื่นชม “เสน่ห์บ้านนอก”

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและการสหกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า 

จัดประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัยโครงการ "คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ" เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โอเทล แบงค็อก มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯลฯ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมว่า โครงการ "คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ" ดำเนินการใน 3 ส่วนด้วยกัน 

ส่วนที่ 1 ทำวรรณกรรมปริทัศน์จากการวิจัย ซึ่งเป็นการรีวิวงานวิจัยสภาพสังคมเศรษฐกิจก่อนและหลังโรคโควิด-19 ระบาด ผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและในโลก 

ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาเชิงลึกว่าคนไทยปรับตัวได้ไม่ได้อย่างไร โดยทำเวทีเสวนาใน 4 ภูมิภาค โดยภาคใต้จัดเวทีที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี และที่ กทม.ในวันนี้  

ซึ่งทีมวิจัยทั้ง 2 ส่วน จะนำเสนอเพื่อจุดประกายต่อที่ประชุม ส่วนที่ 3 เมื่อได้ข้อสรุปในวันนี้ จะนำข้อสรุปและผลการศึกษาไปหารือกับผู้รู้เกี่ยวกับแนวพระราชดำริ จากนั้นจึงนำมากำหนดรูปแบบการขับเคลื่อนเป็นนโยบายต่อไป

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แตกต่างกันไป อย่างเชียงใหม่ ยังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยและจีน 

ในขณะที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอันดามันกระทบมากที่สุด เรือยอร์ชจอดตายเลย ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำยางพาราที่ผลิตยางรถยนต์ก็ส่งออกไม่ได้ ภาคอีสาน ท่องเที่ยวไม่ได้กระทบ แต่กระทบการส่งออกน้ำตาล อาหาร และมันสำปะหลัง 

ส่วนภาคตะวันออก ท่องเที่ยวที่เจอเยอะสุดคือพัทยา เพราะพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ถ้าเป็นที่อื่นๆ อย่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะก็ปิดโรงงานจำนวน 700 โรงงานทั่วพื้นที่ 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โรคโควิด ทำให้ผู้คนทั้ง 4 ภาค เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล เห็นความสำคัญของบิ๊กดาต้า ซึ่งภาครัฐและเอกชนควรต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกเรื่องหนึ่งคือความช่วยเหลือ SME เรื่องเงินกู้อนุมัติเร็ว 

แม้ภาครัฐจะมีนโยบายส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าอนุมัติ ท้ายสุด SME ต้องมาพึ่ง ธกส. ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการอนุมัติเงินกู้ให้ SME ได้เร็วสุด เพื่อต่อลมหายใจ 

“ขณะที่การดำเนินงานเรื่องเกษตรทันสมัยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทั้ง 4 ภาค ยังเดินได้ไม่เร็วนัก พร้อมกันนี้ในเวทีเสวนาในทุกพื้นที่ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัย พยายามที่จะรีสกิลอัพสกิลแรงงงาน แต่ทั้งระบบต้องใช้เวลา”

ด้าน รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดว่าวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้แรงงานไทยที่อยู่ในภาวะมีงานทำ แต่ยากจน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

คือจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 11 ของการจ้างงานในปีนี้ ซึ่งแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นบ้างแล้ว แต่ก็มีความท้าทายหลายอย่างเกิดขึ้นจากกระแสเมกะเทร็นด์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่โควิด-19 มาเป็นตัวเร่ง 

“หลักคือๆ 1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการค้าโลก 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภากาศ และ 3.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านานแล้ว”

ขณะที่ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีความรู้สึกต่อโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง เป็นบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งระบุว่าฝันสลาย ชีวิตพัง ไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตไปอย่างไร

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ หลายคนรู้สึกเป็นภาระของครอบครัว แทนที่หลังจากเรียนจบจะทำงานสร้างรายได้ของตัวเองได้ กลับดูแลตัวเองไม่ได้ และมีความรู้สึกว่าต้องกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ ครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของโควิด-19 ที่สะท้อนออกมา มีทั้งภาคบวกและลบ ภาคบวกคือ ความร่วมแรงร่วมใจได้เกิดขึ้น ความแสดงน้ำใจ บริจาค การช่วยเหลือ อุบัติเหตุที่ลดลง ส่วนภาคลบ ก็มีเรื่องการเรียนระบบออนไลน์ เป็นภาระกับผู้ปกครองที่ไม่มีอุปกรณ์อย่างมาก ปัญหายาเสพติด การพนันออนไลน์มีมากขึ้น เนื่องจากมีเวลามากขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถทำเงินได้ 

ส่วนบริบทสังคมทางลบ มีทั้งการฉวยโอกาส การเกิดมิจฉาชีพ แต่ประเด็นที่น่าชื่นชมก็มี คือการแสดงความมั่งมีของบ้านนอก บ้านนอกมีทรัพยากรเยอะ และคนที่กลับไปก็ใช้ทุนทางสังคมทุนของครอบครัวที่มีอยู่ เรียกว่าเป็นเสน่ห์บ้านนอก มีความเป็นห่วงเป็นใยกัน ความร่วมมือกัน รวมถึงจิตอาสา ซึ่งสามารถหาได้ง่ายกว่าช่วงปกติ

"ในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะได้นำคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำมาหากิน โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)