“รัชชัยย์”ห่วง “ประเสริฐ-ณรงค์” ตน.รองฯ สกสค. อาจเสี่ยงถูกฟ้องขัด กม.“ป.ป.ช.”

“รัชชัยย์” ห่วง “ประเสริฐ-ณรงค์” เก้าอี้รองฯ สกสค. อาจสุ่มเสี่ยงโดนฟ้องขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่ ด้าน “สานิตย์ พลศรี” ชี้ต้องยอมรับสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด มีข้อกังขา ห่วงภาพลักษณ์องค์กร

จากกรณีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในหลายจังหวัด เคลื่อนไหวต่อต้านผลการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ส่วนกลาง

รวมทั้งมีการร้องเรียนและฟ้องร้องต่อผู้มีอำนาจในหลากหลายหน่วยงาน โดยกล่าวหาว่ากระบวนการสรรหาอาจไม่โปร่งใสหรือไม่ เฉพาะอย่างยิ่ง ในประมาณ 20 จังหวัด ที่ผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือก เคยรับราชการใน จ.บุรีรัมย์ ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารในสังกัด กศน. และไม่ได้มีภูมิลำเนาหรือเคยทำงานในจังหวัดที่ลงสมัคร ซึ่งผิดปกติวิสัยนั้น

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ในฐานะสมาชิก สกสค. ตนเป็นห่วงภาพลักษณ์ สกสค.อย่างมาก เพราะเพิ่งผ่านพ้นจากวิกฤตศรัทธา อันเนื่องมาจากปัญหาคดีฟ้องร้องโกงเงินสมาชิกครูจำนวนหลายพันล้านบาท

ซึ่งตนไม่อยากเห็นกลุ่มผู้มีอำนาจใหม่ถูกกล่าวหาว่าก่อความเสียหายเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะความศรัทธาของสมาชิก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากระบวนการได้มาซึ่งกลุ่มผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ชุดปัจจุบัน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ข้อครหา และข้อกังขาของเหล่าสมาชิก สกสค.ค่อนข้างมากเช่นกัน

และสุ่มเสี่ยงกับการมีสมาชิก สกสค.อาจไปยื่นฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาลว่า อาจมีการฝ่าฝืนข้อกฎหมายใดหรือไม่

นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อว่า ตนเองก็มีความเป็นห่วงกรณีนายประเสริฐ บุญเรือง อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนายณรงค์ แผ้วผลสง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. อาจมีความสุ่มเสี่ยงอาจขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่

โดยข้อกฎหมายในหมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ในมาตรา 127 บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง

ซึ่งในมาตรา 126 (4) บัญญัติว่า “นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้

(4) “เข้าไปมีส่วนได้เสีย ในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น”

ทั้งนี้ มีบทลงโทษคดีอาญา ในมาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า “การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม”

ดร.รัชชัยย์กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริง 1.ทั้งนายประเสริฐ และนายณรงค์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามมาตรา 127 2.ทั้งนายประเสริฐ และนายณรงค์ เคยกำกับ ดูแลสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ในฐานะ (บอร์ด) กรรมการ สกสค. ตามมาตรา 126 อนุ 4

3.ทั้งนายประเสริฐ และนายณรงค์ เกษียณอายุราชการยังไม่พ้นสองปี ตามมาตรา 127 4.ทั้งนายประเสริฐ และนายณรงค์ ได้ไปเป็นลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.หลังจากเกษียณอายุราชการยังไม่พ้นสองปี และ 5.สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.มิได้เป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ

ดร.รัชชัยย์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ตนยังมีความห่วงใยองค์กร สกสค.อาจเกิดความวุ่นวายและเสื่อมศรัทธาลงไปอีกหรือไม่ หากมีสมาชิก สกสค.ผู้ใดอาจหยิบยกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้อกังขาการได้มาซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.คนปัจจุบัน มาฟ้องร้องดำเนินคดีว่าอาจขัดกับกฎหมายใดหรือไม่

ต้องยอมรับเช่นกันว่า ในกลุ่มสมาชิก สกสค.ได้วิพากษ์วิจารณ์กังขาเรื่องนี้กันจำนวนมาก นับตั้งแต่เหตุผลที่นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ปลดนายอรรถพล ตรึกตรอง ออกจากปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค., เหตุผลการตั้งนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค., เหตุผลการแก้ไขระเบียบคุณสมบัติเปิดทางให้คนนอกเข้ามาเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ได้

“รวมไปถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ตัวจริงครั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้เลือกนายธนพร สมศรี อดีตผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคการเมืองเดียวกับนายณัฎฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดร.รัชชัยย์ กล่าว

ด้านนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในหลายจังหวัด ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านผลการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานครในเวลานี้ว่า ตนรักองค์กร ห่วงทุกคน ซึ่งต้องยอมรับว่าการสรรหาครั้งนี้มีข้อกังขา ตามที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดต่างๆ พูดสาวไส้กันออกมา

“ผอ.คนเก่าที่ได้เป็นก็อย่าผยอง ขอให้มีน้ำใจกับพวกพ้องให้ดี ผมมีข้อมูลเพียบอยู่ในมือ ตบะใกล้จะแตกแล้ว ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้เก่งกาจ แต่ผมเป็นห่วงภาพลักษณ์ขององค์กร ผมต้องรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง คือผลประโยชน์ขององค์กรและความถูกต้อง” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)