วอน “บิ๊กตู่-วิษณุ” สางครหาเลือก ผอ.สกสค.จังหวัด อย่าปล่อยเป็นแดนมิคสัญญี

ปธ.ชมรม ผอ.สพท.ร่อนคำถามพิสูจน์ความโปร่งใสสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด สงสัยอาจใช้หลักดุลยพินิจตามอำเภอใจ เสี่ยงทำลายธรรมาภิบาลองค์กร ท้า “ธนพร” เปิดคะแนนผู้สมัครทุกคน วอน “บิ๊กตู่-รองนายกฯวิษณุ” อย่าปล่อย สกสค.เป็นแดนมิคสัญญี

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร มีนายนพคุณ รัฐไผท เป็นประธาน กำลังพิจารณาตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัด/กรุงเทพมหานคร

ตามที่มีเครือข่ายองค์กรครูหลายจังหวัดยื่นหนังสือร้องเรียนกล่าวหาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่า มีอดีตข้าราชการระดับสูงผู้มากบารมีในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คอยชักใยอยู่เบื้องหลังสร้างกลุ่ม ผอ.สกสค.จังหวัด เพื่อสยายปีกเครือข่ายบุรีรัมย์โมเดลนั้น

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) กล่าวว่า ถ้าตนเป็นกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จะขอตั้งประเด็นซักถามนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และคนที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร

ซึ่งตนจะไม่สอบถามถึงการออกหลักเกณฑ์การสรรหา เพราะดูผิวเผินเหมือนกับเป็นหลักเกณฑ์ที่มีการประเมินตามองค์ประกอบหลายด้าน เพื่อสรรหาให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการอ่านผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ผู้สมัครเขียนบรรยายไม่เกิน 10 หน้า รวมภาคผนวกที่แนบหลักฐานเอกสารอ้างอิง จำนวน 50 คะแนน

2.คณะกรรมการอ่านวิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาสำนักงาน สกสค.จังหวัด เขียนไม่เกิน 5 หน้า จำนวน 50 คะแนน, 3.คณะกรรมการประเมินความเหมาะสม (สัมภาษณ์) จำนวน 50 คะแนน และ 4.คณะกรรมการรวมคะแนน

ดูเหมือนจะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เป็นธรรมาภิบาลมากกว่าเดิม ซึ่งเดิมมิได้กำหนดกรรมการออกมาเป็น 4 ชุดชัดเจน แต่เป็นการตั้งกรรมการประเมินโดยรวมทั้งหมด แต่ไม่กำหนดว่าเป็นกี่ชุด

ดังนั้น ประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์ ตนจะไม่ซักถาม เพราะไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้จนมุมได้ แต่ตนจะถามวิธีการประเมินของคณะกรรมการสรรหาว่า มีหลักประกันอะไรที่จะให้สังคมเชื่อมั่นในกระบวนการสรรหาครั้งนี้ เป็นธรรมาภิบาล โปร่งใส สามารถพิสูจน์ข้อสงสัยของผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาได้

ประเด็นคำถามถึงวิธีการสรรหาในครั้งนี้ ที่ตนจะถามนายธนพร เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และคนที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร มีดังต่อไปนี้

1) คณะกรรมการชุดที่อ่านผลงาน และอ่านวิสัยทัศน์ ได้มาโดยวิธีการใด ถ้าได้มาโดยวิธีจับสลาก จะต้องมีหลักฐานอ้างอิง เช่น วิดีโอจับสลาก (ถ้าโปร่งใสจริง) หรือภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์จับสลากในวันนั้นว่า ใครเป็นคนจับสลาก และจับสลากได้ใครบ้าง รวมทั้งจะต้องมีสักขีพยานในการจับสลาก และจับวันใด และเวลาใด

ถ้าผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ตอบว่า แต่งตั้งตามความเหมาะสม ตนจะสอบถามต่อไปว่า ใช้หลักเกณฑ์ใดในการแต่งตั้ง และทำไมจึงไม่จับสลากเหมือนคณะกรรมการชุดสอบสัมภาษณ์ มีเหตุผลอะไร

2) มีใครบ้างเป็นกรรมการทั้ง 4 ชุด และมีใครที่ได้เป็นกรรมการมากกว่า 1 ชุด เพราะเหตุใด และทำไมจึงไม่เป็นไปตามเจตนาของหลักเกณฑ์ที่ต้องการให้คณะกรรมการแต่ละชุดมีอิสระขาดจากกัน  

3) หลักเกณฑ์หรือตัวชี้วัดการให้คะแนนแต่ละภาคมีหรือไม่ เช่น ภาค ก ผลงานระดับชาติ ได้กี่คะแนน, ระดับจังหวัด กี่คะแนน, กระบวนการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ กี่คะแนน

และคะแนน ภาค ข วิสัยทัศน์ มีเกณฑ์อย่างไรบ้าง ดูจากอะไรในการให้คะแนน เช่น มีองค์ประกอบครบตามหลักการเขียนวิสัยทัศน์หรือไม่ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ค่าเป้าหมาย ตัวชีวัด ฯลฯ เป็นไปได้และสอดคล้องร้อยรัดกันหรือไม่ 

หรือการให้คะแนนทั้งสองภาคนี้ เป็นการให้คะแนนโดยใช้ดุลยพินิจล้วนๆ ไม่มีหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นตัวชี้วัด ใช่หรือไม่?

4) ช่วงห่างระหว่างคะแนนสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละภาค กำหนดไว้หรือไม่ และแต่ละภาคกำหนดไว้เท่าใด กำหนดไว้ในสัดส่วนเดียวกันทุกภาคหรือไม่ ถ้ากำหนดไม่เท่ากัน เพราะอะไร และคะแนนการอ่านทั้งสองภาค มีวิธีการนำคะแนนมาใช้อย่างไร

5) วันเวลาในการอ่านผลงาน และอ่านวิสัยทัศน์ คือวันเดียวกันกับการสอบสัมภาษณ์หรือไม่ และอ่านที่ใด มีภาพและบันทึกการทำงานหรือไม่ เป็นความลับหรือไม่

ถ้าผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ตอบว่า อ่านคนละวัน คืออ่านวันใด และมีเหตุผลอะไรจึงต้องอ่านคนละวัน อ่านเสร็จเอาคะแนนไปเก็บไว้ที่ไหน จะต้องมีภาพหลักฐานมายืนยันการเก็บรักษาคะแนนที่อ่านเสร็จแล้ว

และตนจะถามต่อไปว่า ทำไมไม่อ่านพร้อมกับการสอบสัมภาษณ์ในวันเดียวกัน เหมือนหน่วยงานอื่นๆ ที่เขาดำเนินการและได้รับความเชื่อมั่นในความสุจริต โปร่งใส เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

6) ทำไมผู้ที่ได้รับการสรรหา จึงตรงกับข่าวลือก่อนสอบสัมภาษณ์ว่า คนนั้นคนนี้จะได้ ทำไมจึงรู้ล่วงหน้า แสดงว่ามีการให้คะแนนทั้งสองภาคเสร็จเรียบร้อยล่วงหน้าก่อนแล้วใช่หรือไม่??

และคะแนนทั้งสองภาคดังกล่าว สามารถชี้วัดได้ว่าใครคือผู้ที่จะได้รับการสรรหา ถึงแม้ว่าคะแนนสัมภาษณ์จะได้ขั้นต่ำที่สุดของเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการสรรหา เพราะคะแนนสองภาคที่ให้ไว้ล่วงหน้า ได้ให้คะแนนทิ้งห่างผู้สมัครทุกคนจนตามไม่ทันแน่นอนแล้ว ใช่หรือไม่??

7) ทำไมผลการคัดเลือกในครั้งนี้ จึงมีคนที่เกี่ยวพันกับจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการคัดเลือกมากกว่าทุกจังหวัด และบางจังหวัด เช่น ศรีสะเกษ ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นเพียงอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนประจำอำเภอ ขณะที่คู่แข่งบางคนเป็นถึงศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับเชี่ยวชาญ มีผลงานเชิงประจักษ์มากมาย แต่แพ้บุคคลดังกล่าว?

หรือแชมป์เก่า ผอ.สกสค.หลายจังหวัดมีผลงานเชิงประจักษ์ ทำไมจึงแพ้คนสมัครหน้าใหม่ที่มาจากต่างถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายตามคำถามข้อที่ 6

ประธาน ชร.ผอ.สพท.กล่าวต่อว่า การสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานครครั้งนี้ ตนและสังคมครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก ขอตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจหรือไม่??

ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กรอย่างร้ายแรง ดังนั้น หลักเกณฑ์การสรรหาดังกล่าวจึงเป็นหลักเกณฑ์ที่ควรยกเลิก และแก้ไขให้เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านี้

ตนจึงขอเสนอแนะว่า ถ้าผู้สมัครเข้ารับการสรรหาฯ หรือสมาชิก สกสค.ท่านใด จะฟ้องศาลปกครอง ให้ฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์การสรรหา คือการฟ้องกฎ ภายใน 90 วัน นับจากกฎทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหาย คือนับตั้งแต่วันประกาศผลการสรรหา

“ถ้าผมเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ผมจะเปิดเผยคะแนนผู้สมัครทุกคนให้ดูเลย เพื่อให้ผู้สมัครทุกคน และสังคมครูและบุคลากรทางการศึกษาได้หายสงสัย ถึงจะเป็นองค์กรธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

ลบล้างข้อครหาในเวลานี้ที่คาดการณ์กันว่า ผลการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดที่เหลือปีหน้า อาจจะมีการจัดสรรให้กับเครือข่ายบุรีรัมย์โมเดล คนที่ผิดหวังรอบนี้ เพื่อปลอบใจ หรือไม่?

นายธนชนกล่าวด้วยว่า ตน และสังคมครูและบุคลากรทางการศึกษา อยากจะกราบเรียนและวิงวอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ศธ. ได้โปรดให้ความสนใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ครั้งนี้

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจและเชื่อถือศรัทธาองค์กร สกสค. ต่อสังคมและผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มิใช่ปล่อยให้องค์กร สกสค.ถูกครหาเป็นแดนมิคสัญญี เพราะที่นี่คือแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ กระนั้นหรือ??” ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่าง เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)