“องค์กรครู”ท้วงบอร์ด สกสค.รีบอนุมัติ“ธนพร”ลาออก ส่อผิด กม.-สัญญาจ้างหรือไม่?

“องค์กรครู”ท้วงคณะกรรมการ สกสค.รีบอนุมัติ “ธนพร” ลาออก ไม่ประเมินผลงานต่อ ส่อผิดกฎหมาย-สัญญาว่าจ้างหรือไม่? ตั้งคำถามหากตรวจพบอดีตเลขาธิการ สกสค.สร้างความเสียหายภายหลัง ใครต้องรับผิดชอบ ห่วง “ตรีนุช” เป็นเป้าใหญ่ ในฐานะประธานบอร์ดผู้ลงนามสัญญา  

จากกรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการ ศธ. ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. หลังจากคณะกรรมการ สกสค.ได้อนุมัติการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ของนายธนพร สมศรี เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิการและสวัสดิภาพครูไม่หยุดชะงัก 

ส่วนตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.แทนนายพิเชฐ น.ส.ตรีนุชระบุว่า จะดำเนินการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมารักษาการต่อไป และว่าจะเร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์การสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ตัวจริงโดยเร็วที่สุดนั้น

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวว่า มีสมาชิก สกสค.ซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากตั้งข้อสังเกตกรณีที่คณะกรรมการ สกสค. ซึ่งมี น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ของนายธนพร สมศรีนั้น มีความชอบธรรมตามกฎหมายและสัญญาว่าจ้างนายธนพรเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่อเดือนรวมราว 2-3 แสนบาท หรือไม่? 

เป็นมติคณะกรรมการ สกสค.โดยชอบหรือไม่? หากมีการอนุมัติการลาออกของนายธนพรโดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบกันอย่างรอบคอบพอว่า นายธนพรได้มีการสร้างความเสียหายใดให้เกิดขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.หรือไม่? เช่น อาจมีการปล่อยเงินกู้ให้กับองค์การค้าฯในช่วงเวลานี้หรือไม่? แล้วหากเงินสูญ องค์การค้าฯอาจไม่ชดใช้คืนในอนาคต  แล้วใครจะรับผิดชอบความเสียหายนั้น ถ้าเกิดมีการฟ้องร้องเรียกชดใช้ความเสียหายในภายหลัง คณะกรรมการ สกสค.ชุดนี้ โดยเฉพาะ น.ส.ตรีนุช ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเป็นผู้ลงนามสัญญาว่าจ้างตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. จะต้องถูกเรียกให้มารับผิดชอบหรือไม่?

อดีตผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดไม่ปรากฏข่าวคราวการสรุปประเมินผลงานตามสัญญาว่าจ้างนายธนพร เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ทั้งๆ ที่มีเสียงเรียกร้องจากตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ให้คณะกรรมการประเมินผลงานตามสัญญาว่าจ้างนายธนพรเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ต้องเร่งดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ และให้แจ้งผลการประเมินว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ผ่าน ให้กับสมาชิก สกสค. ซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้รับทราบ

เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการกำหนดเงินเดือนและค่าตอบแทนต่อเดือนสูงถึง 2-3 แสนบาท และเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจในการบริหารเงินในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งเงินจำนวนมากมาจากเงินหัก 4% ค่าบริหารจัดการสงเคราะห์ทำศพสมาชิก ซึ่งสมาชิก สกสค.ต้องจ่ายคนละหลายร้อยบาท คูณกับจำนวนสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาเกือบ 1 ล้านคน รวมต่อเดือนหลายร้อยล้านบาท

เพราะฉะนั้น หากคณะกรรมการ สกสค.ให้ยุติเรื่องการประเมินผลงาน โดยอ้างว่านายธนพรได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งแล้วนั้น ถือเป็นการยุติเรื่องที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายและระเบียบสัญญาว่าจ้างตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.หรือไม่? หากเกิดความเสียหายใดขึ้น สามารถเรียกชดใช้จากคณะกรรมการ สกสค.ได้หรือไม่? เช่น มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนใดๆ ต่อคณะกรรมการประเมินผลงานหรือไม่? และถ้ายุติการดำเนินการโดยยังไม่บรรลุภารกิจ จะต้องมีความผิดหรือต้องชดใช้เงินอะไรหรือไม่?

รวมทั้งหากเกิดความเสียหายต่อเงินหัก 4% ค่าบริหารจัดการสงเคราะห์ทำศพสมาชิกดังกล่าว ใครจะต้องมารับผิดชอบ

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายธนพรได้อัดคลิปวิดีโอและโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ "ธนพร สมศรี (ธนพร สมศรี)" แถลงสาเหตุลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. โดยกล่าวถึงอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากระบบราชการมาบีบทำให้ตนเองต้องถูกเลิกจ้างพ้นจากตำแหน่ง “จึงตัดสินใจเสียสละตัวเองด้วยการขอลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีธรรมาภิบาล..." 

ดังนั้น หากคณะกรรมการ สกสค.ชุดนี้สั่งคณะกรรมการประเมินผลงานนายธนพรให้ยุติเรื่อง ไม่การดำเนินการประเมินต่อให้แล้วเสร็จ ก็อาจถูกสังคม โดยเฉพาะคนในแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจมองได้ว่า สิ่งที่นายธนพรกล่าวอ้างดังกล่าวอาจเป็นเรื่องจริง

อาจจะยิ่งส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคณะกรรมการ สกสค.ชุดปัจจุบัน แม้จะเป็นชุดข้าราชการระดับบริหารใน ศธ.เป็นส่วนใหญ่ ที่มาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 7/2558 และอาจจะถูกมองด้วยว่า ไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่ดีเด่ไปกว่าคณะกรรมการ สกสค.ชุดเดิม 30 กว่าคน ที่มีผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมอยู่ด้วย แต่อย่างใด

“ในฐานะที่ผมเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ ขอเรียกร้องคณะกรรมการ สกสค.ชุดปัจจุบันที่มี น.ส.ตรีนุช เป็นประธานบอร์ด สกสค. ได้โปรดใช้หลักการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะรักษาผลประโยชน์ให้กับสมาชิก สกสค. ซึ่งเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาเกือบ 1 ล้านคน ที่ต้องอดทนดูเงินหัก 4% ค่าบริหารจัดการสงเคราะห์ทำศพสมาชิก ซึ่งต้องจ่ายคนละหลายร้อยบาท รวมต่อเดือนหลายร้อยล้านบาท ที่ส่งเข้าไปสนับสนุนการทำงานในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. อาจถูกย่ำยีหาประโยชน์จากพวกคอยจ้องทุจริต” นายสานิตย์ กล่าว

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินงาน พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคของแต่ละส่วนงาน โดยมีผู้บริหารของแต่ละสำนักเป็นผู้นำเสนองานในความรับผิดชอบ ณ ห้องประชุมพระพฤหัสบดี 1 อาคารหอพัก สกสค. สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)