กางร่าง กม.การศึกษาชาติ!ฉบับรัฐบาล..จริงหรือไม่? ลิดรอน'ครู-ผอ.'-รวบอำนาจ

กางร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ!ฉบับรัฐบาล ตรวจสอบจริงหรือไม่? เงินวิทยฐานะเสี่ยงสูญ-ถอยหลังสู่โครงสร้างรวบอำนาจ Single Command

 

จากที่นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และ ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ อดีตนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้ปลุกกระแสเชิญชวนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

ได้ติดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับล่าสุดที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา

โดยได้หยิบยกประเด็นข้อห่วงใยปม! เงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะยังคงได้รับอีกต่อไปหรือไม่? เนื่องจากคำว่า “วิชาชีพชั้นสูง” , “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” หายไป บัญญัติใหม่คำว่า “ใบรับรองความเป็นครู

รวมไปถึงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่? หรือถอยหลังกลับไปใช้ตำแหน่ง “ครูใหญ่” เช่นเดียวกับประเด็นห่วงใยเรื่องการถอยหลังของโครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะย้อนกลับไปสู่โครงสร้างรวบอำนาจแบบ Single Command มีเพียงแท่งบริหารสำนักงานปลัด ศธ. โดยปลัด ศธ.มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดรองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น หรือไม่?

แม้ว่านายธนชน ประธาน ชร.ผอ.สพท. จะยังมีมุมมองในแง่ดีว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลนั้น

เป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน มาเปิดรับฟังความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ซึ่งได้มีข้อเรียกร้องโดยสรุป 4 ประเด็นสำคัญ 1.ให้กลับมาใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเหมือนเดิม ไม่ใช้ตำแหน่งครูใหญ่ 2.ให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนเดิม 3.ให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นข้าราชการครูทั้งหมด เพื่อใช้บัญชีเงินเดือนเดียวกัน

และ 4.ไม่เอาโครงสร้างการบริหาร ศธ.แบบ Single Command ที่รวบอำนาจเหลือแท่งเดียว คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)  มีปลัด ศธ.เป็นผู้บังคับบัญชารองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น

โดยได้ข้อสรุปจาก สกศ.รับปากจะเสนอนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เพียง ประเด็นจาก 4 ประเด็นดังกล่าว คือ 1.ให้กลับมาใช้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเหมือนเดิม และ 2.ให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเหมือนเดิม โดยจะแก้ไขในขั้นตอนของกฤษฎีกา

แต่กระนั้น ยังมีข้อห่วงใยที่น่าคิดและติดตามข้อเท็จจริงจาก ดร.รัชชัยย์ อดีตนายกสมาคม ส.บ.ม.ท. ที่ว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาฯประกาศเป็นกฎหมาย เงินวิทยฐานะ 5,600 บาท ของข้าราชการครูฯ อาจจะถูกตัดทันทีหรือไม่? เหมือนกับที่พนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยโดนมาแล้ว

โดย ดร.รัชชัยย์ระบุว่า บันทึกของ รมว.ศธ.ที่ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แม้มีรายละเอียดหลายหน้า แต่ก็ไม่พบว่า รมว.ศธ.พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ที่ระบุให้ใช้คำว่า “ผอ.” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

“อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า คำว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่เป็น Key word ที่สำคัญที่จะทำให้ครูได้รับเงินวิทยฐานะ ก็ยังคงถูกตัดทิ้งไป  ดร.รัชชัยย์ ระบุ

(ชมคลิป ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท.)

ดังนั้น สำนักข่าว EdunewsSiam จึงขอนำเสนอสาระร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับล่าสุดที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ ครม. ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ สกศ.ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ กอปศ.ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน มาเปิดรับฟังความคิดเห็นของครูฯ ในหมวดและมาตราที่เกี่ยวข้องกับข้อห่วงใยต่างๆ ดังกล่าว

เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้ลองตรวจสอบและพิจารณาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า สุ่มเสี่ยงจะเป็นไปตามข้อห่วงใยดังกล่าวหรือไม่…??

ข้อห่วงใยเรื่องตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” จะยังคงมีต่อไปหรือไม่?

มาตรา ๓๘ ในสถานศึกษาของรัฐที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้มีครูใหญ่คนหนึ่ง รับผิดชอบในการบริหารสถานศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาของครูและบุคลากรอื่น ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในสถานศึกษา โดยจะให้มีผู้ช่วยครูใหญ่ในการบริหารตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงเจ้าสังกัดกำหนด

ครูใหญ่ต้องทำหน้าที่ครูและผู้ช่วยครูใหญ่มาแล้วตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของครู แต่จะกำหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับใบอนุญาตมิได้

ผู้ช่วยครูใหญ่ซึ่งทำหน้าที่ช่วยงานบริหารหรือธุรการ อาจแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิใช่เป็นครูได้

ให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดแนวทางในการสรรหา คัดเลือก และจัดการอบรม และพัฒนาครูใหญ่หรือผู้ช่วยครูใหญ่ให้มีความรู้และความสามารถในการบริหารสถานศึกษา ตามความจำเป็น

มาตรา ๓๙ ให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครูในสถานศึกษาของรัฐได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ให้บุคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือค่าตอบแทนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครู อาจมีระดับตำแหน่งเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่อาจมีชื่อตำแหน่งเรียกเป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้

บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๑ ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่ ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วแต่กรณี และมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามอัตราเดียวกับที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการ สถานศึกษาได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้คุรุสภาออกใบรับรองความเป็นครูให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว

ข้อห่วงใยเรื่อง “เงินวิทยฐานะ” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” จะยังคงมีต่อไปอีกหรือไม่?

มาตรา ๓๗ ครูซึ่งจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) (ข) ต้องมีใบรับรองความเป็นครู เว้นแต่เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและจัดกระบวนการเรียนรู้วิชาหนึ่งวิชาใดเป็นการเฉพาะตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๕ การกำหนดมาตรฐานความเป็นครู การออก การพักใช้ และการเพิกถอนใบรับรองความเป็นครูและการปฏิบัติตามมาตรฐาน และจรรยาบรรณของความเป็นครู ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่คุรุสภาต้องนำผลการศึกษาวิจัยตามมาตรา ๓๖ มาเป็นเงื่อนไขส่วนหนึ่งในการออกใบรับรองความเป็นครู ใบรับรองความเป็นครูให้ใช้ได้ตลอดไป แต่ครูต้องเข้ารับการพัฒนาตามระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา ๓๙ ให้ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครูในสถานศึกษาของรัฐได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ให้บุคลากรอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือค่าตอบแทนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ครูใหญ่ ผู้ช่วยครูใหญ่ และครู อาจมีระดับตำแหน่งเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๐๐ ให้ครูซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วย สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และปฏิบัติหน้าที่ครูได้ต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้สามารถต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ต่อไป โดยถือเสมือนหนึ่งเป็นครูผู้ได้รับใบรับรองความเป็นครูตามพระราชบัญญัตินี้

ครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่และยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมาย ว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายดังกล่าวหรือจะขอใบรับรองความเป็นครูตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

ครูซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากประสงค์ จะเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครูตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แจ้งให้คุรุสภาทราบภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้คุรุสภาดำเนินการออกใบรับรองความเป็นครูให้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงครูซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ให้หมายถึงครูซึ่งได้รับใบรับรองความเป็นครูและครูตามวรรคหนึ่งและวรรคสองด้วย

ข้อห่วงใยเรื่องโครงสร้างรวบอำนาจแบบ Single Command มีเพียงแท่งบริหารสำนักงานปลัด ศธ. โดยปลัด ศธ.มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดรองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เท่านั้น?

หมวด ๕ หน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ มาตรา ๖๖ “...การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้การจัดการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยไม่ต่อเนื่อง หรือบูรณาการกัน และไม่ทำให้สถานศึกษาขาดอิสระในการจัดการศึกษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินนี้

หมวด ๗ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๘๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบาย การศึกษาแห่งชาติ” ประกอบด้วย (๑) นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน กรรมการ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง (๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง

(๔) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนเจ็ดคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (๕) กรรมการผู้ทรงคุณ.”

บทเฉพาะกาล มาตรา ๙๙ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดระเบียบบริหารราชการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการ และหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เป็นไปอย่างมีเอกภาพ และสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงและหน่วยงานอื่น เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น สาระในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาลดังกล่าวนี้ ขอให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ลองตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อเท็จจริงว่า จะสุ่มเสี่ยงเป็นไปตามข้อห่วงใยต่างๆ ดังกล่าวหรือไม่…??

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)