สช.เอาจริง!ไล่เบี้ย ร.ร.เอกชนคืนเงินผู้ปกครอง หลังพบแสวงหากำไรเกินควรอื้อ

สช.ไล่เบี้ย ร.ร.เอกชนคืนเงินผู้ปกครอง หลังพบโรงเรียน นานาชาติ-สามัญไม่รับอุดหนุน แสวงหากำไรเกินควร หลายแห่งค่าธรรมเนียมสูงเว่อ อาหารเด็กเตรียมอนุบาลเกือบ 1.3 แสนต่อปี ประกันอุบัติเหตุ-สุขภาพ 5 แสน แถมเรียกซ้ำซ้อน เก็บทั้งแรกเข้า-บำรุงอาคาร-แอร์  

ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่ประชุมคณะกรรมการ กช. มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทำหนังสือถึงโรงเรียนเอกชนในระบบทั่วประเทศ ให้สรุปค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เป็นค่าบริการที่ไม่เกิดจริง

เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเครื่องใช้แรกเข้า ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าทัศนศึกษา ค่ารถรับส่ง เป็นต้น เพื่อสรุปรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่า มี่รายการใดบ้างที่ต้องจ่ายคืนผู้ปกครอง เนื่องจากตลอดเดือนมกราคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประกาศปิดสถานศึกษา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น 

โดย ดร.อรรถพลกล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ได้เริ่มทยอยส่งรายงานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมาให้ สช.แล้ว และเจ้าหน้าที่ สช.กำลังอยู่ระหว่างการจัดแยกหมวดหมู่ของโรงเรียน ซึ่งแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว แต่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา เช่น โรงเรียนการกุศล โรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนการศึกษาพิเศษ

2.กลุ่มโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว และเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่นๆ มีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าแห่ง ถือว่ามีมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประเภทสามัญในระบบ

และ 3.กลุ่มโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว แต่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา เช่น โรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนประเภทสามัญในระบบที่ไม่รับเงินอุดหนุน

หลังจากแยกกลุ่มเสร็จแล้ว จะมีการตรวจสอบรายละเอียดว่า มีโรงเรียนใดบ้างที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินจริง หรือเรียกเก็บซ้ำซ้อนบ้าง จากนั้นจะให้โรงเรียนชี้แจง  

เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบ กลุ่มที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สูงมาก คือกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสามัญที่ไม่รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งมีประมาณ 10% ที่เรียกเก็บค่อนข้างสูงมาก รวมทั้งมีโรงเรียนสามัญที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบางแห่งที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง

บางโรงเรียนเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือเก็บค่าบำรุงอาคารสถานที่แล้ว ยังเรียกเก็บค่าแอร์อีก หรือบางรายการน่าจะเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาที่รัฐจัดสรรให้ไปแล้ว แต่ยังเรียกเก็บอีก หรือบางแห่งใช้คำว่าค่าธรรมเนียมอื่นๆ โดยไม่บอกว่าเป็นค่าอะไรบ้าง

“เรื่องเหล่านี้ต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน โดย สช.จะตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขระเบียบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อการศึกษาให้มีความชัดเจนว่า รายการใดที่โรงเรียนเก็บเงินได้และเก็บไม่ได้ เพื่อให้มีมาตรฐานในทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งค่าใช้จ่ายใดไม่สมเหตุสมผล ก็ต้องสั่งให้โรงเรียนคืนผู้ปกครอง”

เลขาธิการ กช.กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนสามัญที่ไม่รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว จากข้อมูลที่พบหลายแห่งเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองสูงมาก แม้จะเป็นโรงเรียนทางเลือกให้กับผู้ปกครอง แต่หากเรียกเก็บสูงเกินเหตุอันควร สช.ก็ต้องเรียกมาชี้แจงเพื่อตอบสังคมให้ได้ว่า แสวงหากำไรเกินควรหรือไม่

เช่น โรงเรียนบางแห่งเรียกเก็บค่าอาหารเด็กชั้นเตรียมอนุบาลสูงถึงคนละ 90,000 บาทต่อปี แถมยังมีค่าอาหารว่างอีกคนละ 38,000 บาทต่อปี และบางแห่งเก็บค่าประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพอีกคนละ 500,000 บาท ซึ่งเกินกว่าเหตุอันควรหรือไม่

“สิ่งเหล่านี้ สช.จะเรียกมาชี้แจง เอ็กซเรย์แบบรายโรงเรียนให้เร็วที่สุด ถ้าสรุปว่าโรงเรียนใดเก็บแพง แสวงหากำไรเกินควร ก็จะเสนอบอร์ด กช.ให้พิจารณาเพื่อปรับลดและคืนเงินให้กับผู้ปกครองต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)