สพฐ.จับมือ สอศ.สนองนโยบาย รมว.ศธ. ปิ๊ง! ผุดห้องเรียนอาชีพใน ร.ร.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมร่วมกับ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เพื่อดำเนินโครงการห้องเรียนอาชีพระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ซึ่งเป็นไปตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ และต้องการค้นหาความถนัดของผู้เรียนในอนาคต เพราะการศึกษาจะต้องทำให้ผู้เรียนมีอาชีพและมีรายได้เมื่อสำเร็จการศึกษา

โดยโครงการห้องเรียนอาชีพ จะเริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ 1.หลักสูตรอาชีพระยะสั้น เช่น ทำขนมเบเกอรี่ ทำแหนม ฯลฯ และ 2.จัดหลักสูตรวิชาชีพในรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีการเรียนเก็บหน่วยกิตที่เป็นวิชาชีพสะสมเป็นธนาคารหน่วยกิต

ผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตไปต่อยอดการเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ได้ โดยที่ไม่ต้องไปลงเรียนในรายวิชานั้นซ้ำอีก

ทั้งนี้ โครงการห้องเรียนอาชีพจะเป็นการจัดหลักสูตรวิชาชีพที่หลากหลายตามบริบทของโรงเรียน โดยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะเรียนวิชาชีพเพื่อแสวงหาความถนัด ขณะที่ชั้น ม.ปลายจะเลือกเรียนวิชาชีพที่ตนเองอยากเป็นในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กสู่เส้นทางอาชีพ  

นายอัมพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดห้องเรียนอาชีพในโรงเรียน สพฐ.มาแล้ว แต่เป็นการจัดที่ยังทำไม่เต็มรูปแบบ โดยนำครูอาชีวะมาสอนเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเด็กเรียนแล้วไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะการเรียนอาชีพจริงๆ จะต้องเรียนต่อเนื่องอย่างน้อย 1 สัปดาห์อย่างจริงจัง เพื่อเด็กเรียนแล้วจะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้

"ผมอยากให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องเปลี่ยนความคิดเรื่องการเรียนวิชาชีพใหม่ เพราะการจัดการศึกษาต้องไม่ยัดเยียดเด็ก แต่จะต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางว่า เด็กอยากเรียนแบบไหน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)