เอกซเรย์ขุมทรัพย์ สกสค.! จากเงินทอน ช.พ.ค./ช.พ.ส.ไม่ครบ..ให้จบที่ความสุขครู

เสวนากับบรรณาธิการ

เอกซเรย์ทรัพย์ สกสค.! จากเงินทอน ช.พ.ค./ช.พ.ส.ไม่ครบ

ให้จบที่ความสุขครู

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

Edunewssiam.com < เสวนากับบรรณาธิการ 1 มีนาคม 2564

 

ควันหลงจากบทเสวนากับบรรณาธิการว่าด้วยเรื่อง "ช.พ.ค./ช.พ.ส.กับเงินทอนครูที่ไม่ครบ จบแบบลอยตัวเหนือคำถาม" ที่มีการหักเงินสมาชิกคนละ 1 บาท แต่การจ่ายเงินค่าสงเคราะห์ที่ต้องจ่ายให้ครอบครัวครูที่เป็นสมาชิกเมื่อถึงแก่กรรม กลับไม่เท่ากับจำนวนสมาชิกที่จ่ายไปตามระเบียบ และสิทธิประโยชน์อันชอบธรรม ซึ่งเป็นข้อสงสัยและข้อเรียกร้องของสมาชิกที่มีต่อ สกสค.ได้ชี้แจงมาโดยตลอด

จากประเด็นดังกล่าว ล่าสุดดูเหมือนจะถูกมองว่า เป็นเรื่องที่ถูกแชร์วนซ้ำซากในลักษณะนี้ต่อเนื่องกันมาหลายปี ปีละหลายหน น่ารำคาญใจ

เหมือนคอยจับผิดการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มากกว่าทำความเข้าใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ สกสค.เคยชี้แจงกันมาแล้วหลายรอบ

ที่ว่า ช.พ.ค. คือ กองทุนที่เก็บเงินจากสมาชิกคนละ 1 บาท จ่ายให้แก่สมาชิกที่ตายในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างปัจจุบัน มีสมาชิก ช.พ.ค.เดือนล่าสุด 997,930 คน ซึ่งจำนวนสมาชิกที่เสียชีวิตต่อเดือน คือ เฉลี่ยประมาณ 500 คน รายชื่อสมาชิกที่ตายในแต่ละเดือน ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ ช.พ.ค. http://www.otep.go.th/?p=otep-page&id=902

ถ้าชี้แจงแบบนี้ ยังไงๆ ก็ไม่จบเมื่อ  บวก ลบ คูณ หาร แล้ว ทายาทครูผู้ตายก็ได้ไม่ครบ จึงมีคำถามต่อไปถึงจำนวนเงินของ 500 ราย ในแต่ละเดือนที่ขาดหายนั้นไปทอนอยู่ที่ไหน  อย่างไร?  

จนกระทั่งถึง ณ วันนี้ ตั้งแต่มีข่าวออกไป แต่ สกสค.ยุคปัจจุบันก็ยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไร้ปฏิกิริยา ไม่ออกมาขานรับตอบความบรรดาสมาชิก ด้วยถือว่าได้ชี้แจงกันไปหลายรอบหลายครั้งแล้วในอดีต เมื่อมองไปถึงการประชาสัมพันธ์บ่งบอกถึงความไร้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทำให้ภาพลักษณ์องค์กรยิ่งตกต่ำลงไปอีก

แต่ก็มีคนในแวดวงการศึกษาหลายท่านออกมาทำหน้าที่ชี้แจงแทน สกสค.ว่า "สกสค.เป็นหน่วยงานสวัสดิการตั้งขึ้นมาที่มิใช่ของรัฐ แล้วเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายสำนักงานจิปาถะ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ จำต้องใช้เงินที่หักจากสมาชิกที่ตายมาเป็นใช้จ่าย"

โดยกองทุน ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.นี้ จะหักเงินเป็นค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน 4% ก่อนที่จะจัดให้ทายาทสมาชิกที่เสียชีวิต

ยกตัวอย่างเช่น เดือนนี้มีสมาชิก ช.พ.ค.เสียชีวิต 630 คน จากสมาชิก ช.พ.ค.เดือนล่าสุด 997,930 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น กองทุนนี้จะได้รับเงินเดือนนี้ทั้งสิ้น 628,695,900 บาท จากสมาชิก 997,930 คน คนละ 630 บาท    

แต่นัยสำคัญจริงๆ นั้น เราต้องการชี้ให้เห็นว่า กฎระเบียบทางราชการที่ใช้มานานบางอย่างล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ควรจะได้ปรับปรุงแก้ไข พัฒนา เพื่อสังคมจักอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  

ดังประเด็นหาก สกสค.คืนเงินที่หักเป็นค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน ช.พ.ค. 4% คืนแก่สมาชิกอย่างน้อย 1-2 % ได้ไหม!

แม้ว่าการหักเงิน 4% นี้ เป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้กับการฌาปนกิจสงเคราะห์ทุกสังกัด ถ้ามีสมาชิก 10,001 คนขึ้นไปก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสมาชิก ช.พ.ค./ช.พ.ส.นับรวมกันแล้วมากกว่า  1 ล้าน 2 แสนคน สกสค.ก็ใช้เจ้าหน้าที่ชุดเดียวกันในหน่วยงานดำเนินการ

อีกทั้งการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่มีความทันสมัย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่นยุคก่อนๆ ทุกอย่างย่อมสามารถลดภาระงาน ลดจำนวนคน ลดรายจ่ายที่ทับซ้อนซ่อนปมลงได้มหาศาล  สมาชิก ช.พ.ค./ช.พ.ส.ทั้งที่ยังอยู่ ตลอดทายาทครูที่เสียชีวิต ก็จะได้อานิสงค์ประโยชน์ทั่วกัน  

ที่สำคัญจากข้อมูลสำนักข่าว EdunewsSiam ที่มีอยู่ในมือล่าสุด ประมาณการว่า ค่าใช้จ่ายของ สกสค.ทั่วประเทศ ทั้งเงินเดือน เงินตอบแทน เงินวิทยฐานะเจ้าหน้าที่ และค่ายใช้จ่ายอื่นๆ จิปาถะ มีรวมราว 800 ล้านบาทต่อปี

โดย 10 กว่าปีหลังมานี้ ภายหลังจากที่ สกสค.มีกองทุนส่งสริมความมั่นคงโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. ที่ได้เงินคืนดอกเบี้ยสมาชิกผู้กู้มาจากธนาคารออมสิน (รวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท) สกสค.ได้นำเงินจากกองทุนนี้ส่วนหนึ่งปีละราว 500 ล้านบาท นำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน จนท. และค่ายใช้จ่ายอื่นๆ จิปาถะทั่วประเทศ นอกเหนือจากที่ใช้งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้อีกปีละกว่า 125 ล้านบาท

ดังนั้น หากนำเงินหัก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส.กองทุนละ 4% รวมแล้วเดือนละ 8% และเมื่อนำเงินทั้งหลายที่ว่านี้มารวมแล้ว ตัวเลขน่าจะมากเกินพอค่าใช้จ่ายใน สกสค.ทั่วประเทศหลายเท่าตัว    

เมื่อย้อนไปดูข้อมูลเก่าที่ สกสค.เคยแจงถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ช.พ.ค./ช.พ.ส เงินที่หักไว้ 4 % เป็นแค่ค่าจ้าง ผู้บริหารและ จนท.ในทุกจังหวัด ก็ไม่พอจ่ายแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ และตอกย้ำอีกว่า ยังไม่รวมเงินเดือนของ ผอ.และผู้บริหาร ตลอด จนท.สกสค.ในส่วนกลาง

ว่ากันว่า เงินเดือน จนท.ระดับ ผอ.สำนักปาเข้าไปราว 8-9 หมื่นบาท มากกว่าปลัดกระทรวงด้วยซ้ำ แถม จนท.ยังมีเงินวิทยฐานะ รับเงิน 2 เท่าด้วย เหมือน ขรก.ครู ทั้งๆ ไม่ได้มีภาระงานสอนหนังสือ

ยิ่งกว่านั้น หากดูไปถึงเม็ดเงินที่ สกสค.ฝากธนาคารไว้เป็นงินกองทุน 0.80 % (เฉพาะของ  ช.พ.ค.ประมาณเดือนละ 3 ล้าน 6 แสนบาท) จะใช้ได้แต่ดอกเบี้ย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2494 ถึงปัจจุบัน เมื่อยังไม่ได้นำไปใช้อะไร คงมีคำถามต่อ ณ วันนี้ ล่วงมาปี พ.ศ.2564 นับรวม 70 ปี เข้ามาแล้ว  

หากยังไม่ได้นำไปใช้ พอจะรายงานได้ไหมว่า ปัจจุบันคิดเป็นเงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยอีกเท่าไร มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีอย่างไรบ้าง?  

สอดรับกับสภาพปัจจุบัน ปัจจัยในซีกองค์การค้าของ สกสค. ได้ปรับลดขนาดองค์กรลงให้เหมาะสมกับเนื้องาน โดยเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ 961 คน ในสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยังนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ล้วนทำให้ประหยัดรายจ่ายได้อีกกว่า 40 ล้านบาทต่อเดือน

นี่ยังไม่รวมถึงแผนการเตรียมนำทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินทำเลทองใน กทม.ย่านลาดพร้าว สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร ออกมาเพื่อบริหารจัดการหนี้  

อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์อีกหลายแห่ง ที่อดีตผู้บริหาร สกสค.ยุคอื้อฉาวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มีเม็ดเงินรวมไม่น้อยอีกราว 4 พันล้าน ก็ยังไม่เห็นมีใครใน สกสค.ยุคปัจจุบัน เอะอะออกมาให้ตกใจกันบ้าง 

"...นอกจากนี้ หากติดตามทวงคืนเงินอีกหลายพันล้านบาท จากการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ทั้งที่เป็นปัจจุบันและที่ผ่านมาอย่างจริงจังได้สำเร็จ ย่อมทำให้ภาวะทางการเงินของ  สกสค.ยิ่งส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา วิ่งฉิวยิ่งกว่าความเร็วเน็ต 5 จี อย่างแน่นอน..."                                                                                   

ฉะนั้น ผู้บริหาร สกสค.ยุคเลขาธิการ ธนพร สมศรี ซึ่งเป็นลูกหลานทายาทครอบครัวครู ควรจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาอย่างจริงจังว่า เงินจัดการศพที่ สกสค.หักจากทายาทไปเป็นค่าใช้จ่ายบริหารกองทุน ช.พ.ค. 4% และ ช.พ.ส. 4% น่าจะมีเงินส่วนเหลือพอจะทอนคืนแก่บรรดาทายาทสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต อีกกองทุนละ 2-2.5% ได้หรือไม่?

ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของทายาทสมาชิก โดยเฉพาะรายที่กำลังเป็นหนี้สินจักได้บรรเทาลง สอดคล้องกับชื่อองค์กร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา อันเป็นหน่วยงานในกำกับ ศธ.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งแผ่นดิน

อีกประการสำคัญ! เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน สมาชิกจะได้หายเคลือบแคลงสงสัย ไม่ต้องร้องถามหาความจริงกันเป็นระยะๆ ต่อไปอีก...        

 

EdunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ 

tulacom@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)