หนุน ‘สุภัทร’ เลื่อนคัดเลือก 15 นักบริหารต้น เชียร์ 'รมว.ศธ.' ชง อ.ก.พ.รื้อสรรหาใหม่

จากกรณีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในประกาศ ศธ. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 เลื่อนกำหนดวันประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สัมภาษณ์) ในการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น สังกัด ศธ. รวม 15 ตำแหน่ง ช่วงวันที่ 15-17 มีนาคม 2564 ออกไปไม่มีกำหนด

จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คาดการณ์ในหมู่ข้าราชการ ศธ.ถึงสาเหตุว่า นายสุภัทรอาจจะแก้ปัญหาแรงกดดันจากผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือไม่? โดยเฉพาะมีกระแสข่าวว่า ช่วงสัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติตัวบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่แล้ว ในขณะเดียวกันเพื่อลดแรงกดดันจากโพยรายชื่อเด็กฝากของผู้มีอำนาจต่างๆ ด้วยหรือไม่?

เพราะเมื่อวันพุธที่ 10 มีนาคม 2564 นายสุภัทรเพิ่งลงนามประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ และกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สัมภาษณ์) ในช่วงวันที่ 15-17 มีนาคม 2564 ภายหลังจากเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธธ์-3 มีนาคม 2564

แต่จู่ๆ ถัดมาวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564 นายสุภัทรกลับลงนามประกาศ ศธ.ขอเลื่อนกำหนดการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (สัมภาษณ์) ออกไป โดยอ้างเหตุเพียงว่า คณะกรรมการคัดเลือกบางรายติดภารกิจเร่งด่วน ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมช่วงวันที่ 15-17 มีนาคม 2564 ได้นั้น

ธนชน มุทาพร

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ผอ.สพท.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ตนเห็นด้วยและเป็นกำลังใจให้กับนายสุภัทร ปลัด ศธ. ที่เลื่อนวันประเมินคัดเลือกตำแหน่งนักบริหาร ระดับต้น ครั้งนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด

ถูกต้องแล้วที่ควรรอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่เข้ามาสร้างธรรมาภิบาลในกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ศธ. ควรยกเลิกการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น สังกัด ศธ.ในครั้งนี้ แล้วให้ อ.ก.พ.ศธ.เริ่มตั้งเรื่องดำเนินการใหม่ทั้งหมด

ตั้งแต่การวางหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯชุดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก จะต้องเปิดกว้างให้ข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมในตำแหน่งต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ารับการคัดเลือกด้วย

เช่น ในตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ควรเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด (ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด) ได้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกด้วย เพื่อความเป็นธรรม

เพราะ ผอ.สพท.และ ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัดล้วนมีบทบาทหน้าที่ทำงานบูรณาการการศึกษาในจังหวัดต่างๆ เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว

อีกทั้งหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และรองเลขาธิการ กศน.ในครั้งนี้ ก็เปิดโอกาสให้ศึกษาธิการจังหวัดได้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ด้วย

ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น สังกัด ศธ.ในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯชุดปัจจุบัน แต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และประธาน อ.ก.พ.ศธ.

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และประธาน อ.ก.พ.ศธ.คนใหม่ เข้ามา ก็ควรจะแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯชุดใหม่ โดยเฉพาะตัวประธานกรรมการคัดเลือกฯ คือนายกฤตชัย อรุณรัตน์

“ซึ่งแม้นายกฤตชัยจะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ แต่ปัจจุบันนายกฤตชัยเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำ ที่ต้องมีวินัยและจรรยาครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง” นายธนชน กล่าว

อนึ่ง ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น สังกัด ศธ.ที่จะมีการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ มีจำนวนรวม 15 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. 1 ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ตำแหน่งผู้ช่วยปลัด ศธ. 1 ตำแหน่ง, รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. 1 ตำแหน่งรองเลขาธิการ กช. 2 ตำแหน่ง รองเลขาธิการ กศน. ตำแหน่ง

รองศึกษาธิการภาค 2รองศึกษาธิการภาค 5รองศึกษาธิการภาค 6รองศึกษาธิการภาค 10รองศึกษาธิการภาค 13 และ รองศึกษาธิการภาค 17

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)