อาชีวะพัฒนากำลังคนรองรับโลจิสติกส์ยานยนต์ไฟฟ้า ถ้าทำด้วยหัวใจสู้ได้ แม้เจอโควิด

ไปวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี(วท.ชลบุรี)โดยมีนายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการมาเมื่อสองสามวันก่อน(26มีค.64)ในพิธีร่วมมือกับภาคสถานประกอบการอุตสาหกรรมเอกชนที่ประกอบการอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกรวม 19 แห่งในการจับมือผลิตและพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ ระบบขนส่งทางรางและยานยนต์ไฟฟ้าโดยปั้นนักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ในวท.ชลบุรีให้เป็นคนดีมีความสามารถทางทักษะฝีมือรองรับความเจริญทางเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในโลกนี้อย่างรวดเร็วมาก

พูดถึงระบบยานยนต์ไฟฟ้าขอย้อนไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 นิดนึงครับ ไปที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า(วท.เรียงป่าเป้า) จังหวัดเชียงรายมา นายเรวัตร  แก้วทองมูล ผู้อำนวยการพาไปดูการจัดการเรียนการสอนแผนกช่างยนต์ กำลังเรียนเรื่องรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมีวี่แววว่าจะมีการนำเข้ามาใช้ในบ้านเราอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าตอนนี้ก็มีใช้กันบ้างแล้ว วท.เวียงป่าเป้าจึงเตรียมพร้อมผลิตพัฒนากำลังคนรองรับ โดยศึกษาเรียนรู้องค์ประกอบทั้งคันของรถที่เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด อะไรอยู่ตรงไหน ขับเคลื่อนยังไง  ศึกษาเรียนรู้ความพร้อมด้านอุปกรณ์ฝึก วัสดุฝึก เมื่อเรียนจบแล้วสามารถไปให้บริการด้านซ่อมบำรุงไปจนกระทั่งการปรับมอเตอร์ไซค์น้ำมันปรกติของชาวบ้านในพื้นที่ให้มาเป็นระบบไฟฟ้าได้เพื่อไม่ต้องไปซื้อคันใหม่เพราะราคาสูงโดยค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก

ผอ.เรวัตรบอกด้วยว่าวิทยาลัยเป็นศูนย์ทดสอบช่างติดตั้งไฟฟ้าในอาคารธุรกิจอุตสาหกรรม  โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาประเมินทุกปี ทำมา 2 ปีแล้ว

 กลับมาที่วท.ชลบุรี มีความยิ่งใหญ่อลังการของการเตรียมความพร้อม เพราะดูแล้วมีผลพวงต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศทีเดียว เป็นการพัฒนาผลิตกำลังคนของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)โดยร่วมกับภาคสถานประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ถึง 19 แห่งเพื่อรองรับการประกอบการระดับประเทศระดับโลก โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ ระบบการขนส่งทางรางและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาคสถานประกอบการดังกล่าวเองก็ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถด้านทักษะมากมายอยู่แล้ว ยังมีสถานประกอบการอีกมากมายในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่อื่นๆก็ยังคงต้องการกำลังคนที่พัฒนาฝีมือทักษะดีแล้วอีกจำนวนมากเช่นกัน

การรวมพลังระหว่างวิทยาลัยการศึกษาสายวิชาชีพกับสถานประกอบการอุตสาหกรรมพัฒนากำลังคนจากแต่ละวิทยาลัยจึงถือว่าเป็นภาพใหญ่ ต้องผลิตนักเรียนนักศึกษาจบออกไปรองรับสังคม คือมีทักษะฝีมือทาสายอาชีพตามความต้องการ เป็นคนดีมีความขยันซื่อสัตย์ กตัญญูตามที่สถานประกอบการต้องการ ที่สถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาย้ำมาตลอดว่าเรียนจบแล้วมีงานรองรับ  หรือจะว่าไปเรียนไปทำงานไปมีรายได้ไปตั้งแต่กำลังเรียน จบแล้วก็มีงานทำกันเลยทีเดียว

 นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.วท.ชลบุรี จึงทุ่มเทในการเตรียมความพร้อมพัฒนากำลังคนรองรับภาคอุตสาหกรรม รองรับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่สำคัญได้รับการเกื้อกูลจากสถานประกอบการที่มีความพร้อมด้านการให้ประสบการณ์ ให้องค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อผลิตกำลังคนไปรองรับอุตสาหกรรมด้วย  จึงถือเป็นการกรุยทางฝ่าวิกฤตโรคไวรัสโควิด-19 ที่ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาสร้างผลกระทบการดำเนินวิถีชีวิตของคนไทยตกต่ำทรุดโทรมไปทุกด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเตรียมความพร้อมพัฒนากำลังคนรองรับภาคประกอบการอุตสาหกรรมจึงเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจกระตุ้นให้เศรษฐกิจให้ขยับดีขึ้นได้เร็วขึ้น การดำเนินชีวิตในภาคส่วนอื่นๆก็จะดีขึ้นตามมา

ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีย้ำว่า วท.ชลบุรี  มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีห้องเรียนครุภัณฑ์ที่ทันสมัย อาคารสถานที่ ห้องปฏิบัติการ และมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีที่สถานประกอบการต้องการ เป็นคนดีตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้สถานศึกษาน้อมนำหล่อหลอมเยาวชนนักเรียนนักศึกษาเพื่อ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง  3. มีงานทำ - มีอาชีพและ4. เป็นพลเมืองดี

มีผู้ให้คำนิยามสั้นๆว่าการเป็นพลเมืองดี คือ "เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ" เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล ให้ทำด้วยความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร

“สถานประกอบการจะร่วมพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) การพัฒนาห้องปฏิบัติการและศูนย์การเรียนรู้ภายในวิทยาลัย และให้ครูในสถานศึกษาเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีและฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ เพื่อกลับมาสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษาก็จะได้ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ โดยมีสวัสดิการและค่าตอบแทนให้ และได้รับใบรับรองเมื่อผู้เรียนผ่านเกณฑ์ตามหลักสูตร” นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.วท.ชลบุรีกล่าว

ฟังจากผอ.นิทัศน์บอกว่าสถานประกอบการร่วมพัฒนาหลักสูตรด้วยจะได้ตอบโจทก์ความต้องการของแรงงานอุตสาหกรรมได้ตรง ถ้าจริงจังตามนั้นก็เห็นจะยืนยันได้แน่นอนว่านักเรียนนักศึกษาต้องได้เป็นผู้เชี่ยวชาญมีทักษะฝีมือในสายอาชีพที่ว่ามาแน่นอนและที่สุดเมื่อเรียนจบก็จะได้งานทำเลยทันที เพราะหลักสูตรน่าจะบ่งบอกถึงการพัฒนาบุคลากรตามที่มุ่งหมาย โดยเฉพาะจุดประสงค์ที่ตรงกันคือการปลูกฝังหล่อหลอมให้เป็นคนดีของสังคมอย่างยั่งยืนตามที่สถานประกอบการก็ต้องการคนดีทำงานในองค์กรเช่นกัน

 ในพิธีการประกาศทำความร่วมมือกันระหว่างวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีกับสถานประกอบการ 19 แห่งชั้นนำของภาคตะวันออกเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางรางและยานยนต์ไฟฟ้าพัฒนากำลังคนรองรับสถานประกอบการเขตเศรษฐกิจพิเศษ(EEC)ภาคตะวันออกคราวนี้ ผู้บริหารสถานประกอบการหลายท่านได้เสนอแนวทางพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างช่างฝีมือที่อาจต่างไปจากมุมมองในหลักสูตรของสถานศึกษา  แต่เป็นมุมมองประสบการณ์ของสถานประกอบการโดยตรง เชื่อได้ว่ามุมมองอย่างนี้นอกจากเมื่อผู้เรียนจบแล้วได้งานทำแน่นอน ยังจะได้ผู้เชี่ยวชาญที่ยังไม่มีคู่แข่งมากนักในสายงานและยังเปิดช่องทางให้ผู้เรียนที่พื้นฐานทางช่างไม่เท่ากันได้มีทางเลือกได้ด้วย

ไปสัมผัสการตื่นตัวเตรียมพร้อมของผู้บริหารวิทยาลัย ครูอาจารย์เพื่อผลิตพัฒนานักเรียนนักศึกษาเป็นคนดีมีคุณภาพทางอาชีพโดยประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ถ้าทำกันอย่างจริงจังก็เชื่อว่า ในทุกภาวะโอกาสที่ก่อผลกระทบการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ถึงจะหนักหนาเช่นวิกฤตไวรัสโควิด-19 นี้ที่เห็นตรงกันและเจอภาวะเดือดร้อนไม่แพ้กันคือเจอผลกระทบต่อการกินการอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกอาชีพ ทุกระบบ การศึกษาที่พัฒนาทั้งองค์ความรู้และทักษะอาชีพให้เยาวชนจนพูดได้เต็มปากว่าทำมาหากินได้จริง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกำลังหนึ่งที่สำคัญในการบรรเทาภาวะวิกฤตได้ทุกวิกฤต

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Edunewssiam.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)