นายก ส.บ.ม.ท.ข้องใจเจตนาแท้จจริง? เปลี่ยนคำสำคัญใน กม.ศึกษาชาติ

นายก ส.บ.ม.ท.ข้องใจเจตนาแท้จริง? กฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง กม.ศึกษาชาติฉบับบูรณาการ พร้อมตั้งคำถาม! ใครให้สิทธิตัวแทน สคคท.ไปยอมรับคำบัญญัติใหม่ “หน.สถานศึกษา-ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” ใช้แทน “ผอ.สถานศึกษา-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวกรณีถูกหนึ่งในแกนนำสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) โพสต์ข้อความในไลน์กลุ่ม สคคท. พาดพิงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ในกรณีที่ตนให้ข่าววิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณาว่า

​กรณีมีแกนนำ สคคท.กล่าวหาว่า ตนได้สื่อสารถึงพี่น้องเพื่อครูทั้งประเทศว่า สคคท.เป็นผู้เสนอว่า ให้ใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ครูใหญ่” และให้ใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” แทนคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นั้น

​กรณีนี้ หากแกนนำ สคคท.หมายถึงข้อความที่มีการเผยแพร่ใน เว็บไซต์ข่าว EdunewsSiam.com ขอให้ท่านกลับไปอ่านทบทวนเสียใหม่ การให้สัมภาษณ์สื่อดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่ชี้ให้เห็นว่า ตนพูดว่า “สคคท.เป็นผู้เสนอว่า ให้ใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ครูใหญ่” และให้ใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” แทนคำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”

แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ตนให้สัมภาษณ์ว่า “ที่ประชุมมีมติให้ใช้คำสำคัญตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังนี้ ๑.ไม่ใช้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” แต่ให้ใช้ตำแหน่ง “หัวหน้าสถานศึกษา” โดยให้หน่วยงานไปกำหนดชื่อเอง ๒.ไม่ใช้คำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แต่ให้ใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู”

นอกจากนี้ มีกรณีแกนนำ สคคท.คนดังกล่าวได้แสดงทัศนะว่า การที่ตนออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ตนมีจุดประสงค์อะไร ต้องการอะไรนั้น

​การที่ตนคัดค้านการใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนที่จะใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ การใช้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” แทนที่จะใช้คำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นั้น จุดประสงค์และความต้องการของตนคือ ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ครูเคยได้รับและพึงได้รับ และปกป้องเกียรติภูมิของครูที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งและคนดีมาประกอบวิชาชีพครู

​ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ จะบัญญัติคำสำคัญที่จะทำให้ข้าราชการครูได้รับเงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง นั่นคือ “ความเป็นวิชาชีพชั้นสูง” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู”

หากในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับบูรณา ไม่ได้บัญญัติคำสำคัญ “ความเป็นวิชาชีพชั้นสูง” และไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็จะไม่ครบองค์ประกอบที่จะได้รับค่าตอบแทนวิทยฐานะ นอกจากนี้ ในกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนวิทยฐานะ ล้วนแล้วแต่ใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติคำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา”

​ตนมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใช้คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เหมือนที่เคยใช้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ คำสำคัญทั้ง 2 คำนี้ เคยผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว จึงมีการบัญญัติคำดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รัชชัยย์ ศรสุวรรณ

นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนได้รับข้อความจากที่ปรึกษาด้านการศึกษาของพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ระบุถึงความไม่เป็นธรรมระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับข้าราชการอื่น โดยข้าราชการครูฯได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า

ข้อความดังกล่าวระบุว่า “สิทธิประโยชน์ของข้าราชการครู ศึกษานิเทศก์ ผอ.และรอง ผอ.โรงเรียน ผอ.และรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พวกกลุ่มนี้มีได้รับเงินวิทยฐานะ 5,600 บาท และยังได้รับเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท ข้าราชการที่ทำงานในสำนักงานเขตพื้นที่ฯก็ยังได้ 3,500 บาท รัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายกลุ่มเหล่านี้เดือนละประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ เช่น พยาบาล ผอ.อนามัย ทำงานลำบากตามตำบลได้รับเพียง 5,600 บาท นี่คือปัญหาความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม จึงมีการร้องเรียนกันจำนวนมาก”

จากข้อความนี้ แม้ตนจะยังไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ก็ยิ่งทำให้ตนเพิ่มความสงสัยถึงเจตนาแท้จริง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคำสำคัญดังกล่าวใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

ทั้งนี้ ตนได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ซึ่งทำงานร่วมกับ สคคท.ว่า ในที่ประชุมร่วม ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นการอนุญาตเป็นครั้งๆ ไป มีระยะเวลา มีหมดอายุ ครูต้องเสียเงินมาต่อใบอนุญาตทุก ๕ ปี หรือตามที่กำหนดไว้ แต่หากเป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” รับรองแล้ว เป็นครูไปตลอด ถ้าไม่ทำความผิดนั้น”

ซึ่งตนเห็นว่า หากเหตุผลเยี่ยงนี้เป็นสาระสำคัญในการไม่ใช้คำว่า “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” แล้ว ตนและครูทั้งประเทศไม่สามารถยอมรับได้ เป็นการให้เหตุผลแบบไม่น่าเชื่อว่า ผู้ให้เหตุผลเช่นนี้เป็นนักกฎหมายมหาชนระดับประเทศ เป็นองค์กรที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล

“การให้เหตุผลอย่างนี้ ตนเชื่อโดยสุจริตใจว่า อาจจะมีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือไม่?

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ใช้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” โดยให้หน่วยงานไปกำหนดชื่อเองนั้น ตนก็ไม่ได้รับคำตอบอย่างมีเหตุผลแต่ประการใดว่า ทำไมไม่ใช้คำเดิม คือ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา”

ในขณะที่ในวิชาชีพอื่นมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตำแหน่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีสูงขึ้น เช่น จากตำแหน่ง “หัวหน้า” สถานีอนามัย ได้รับการยกระดับเป็น “ผู้อำนวยการ” โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) เป็นต้น

นายรัชชัยย์กล่าวด้วยว่า ตนขออนุญาตสอบถามและเสนอแนะเพิ่มเติมไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับภาคประชาชนว่า ๑.ท่านเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ภาคประชาชน ย่อมหมายถึงมีประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนได้เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย

ตนขอทราบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวบัญญัติคำสำคัญเกี่ยวกับ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ที่เป็นคำสำคัญที่มีอยู่เดิมไว้อย่างไร ประชาชนผู้เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายได้ให้สิทธิท่านและคณะเปลี่ยนแปลงคำสำคัญเป็น “หัวหน้าสถานศึกษา” และ “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” หรือไม่ หากเปลี่ยนแปลงแล้วภายหลังเกิดความเสียหาย ใครจะรับผิดชอบ

​๒.การที่ท่านยินยอมเปลี่ยนคำสำคัญตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เท่ากับว่าท่านถูกปิดปากไม่ให้พูดเรื่อง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” อีกแล้ว เนื่องจากท่านไปยอมรับในการเปลี่ยนแปลงแล้ว การที่มีการชี้แจงว่า จะไปสู้ต่อในชั้นกรรมาธิการนั้น แทบจะไม่สามารถทำได้

​๓.การที่มีการกล่าวอ้างว่า ต้องยอมรับไว้ก่อน เพราะถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้ จะทำให้เสียหายนั้น กรณีนี้ขอเรียนว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่ในเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมาย มีกรอบระยะเวลาในการทำงาน ไม่มีอำนาจอะไรที่จะระงับยับยั้งร่างกฎหมายใดตามอำเภอใจของตนเอง เว้นแต่ความในร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ขัดกฎหมายอื่น ฯลฯ เป็นต้น

แต่คำว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” นั้น เคยใช้มาก่อน และเคยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้วว่า ใช้ได้ จึงมีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒

​“สุดท้าย ผมขอฝากถามทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า เปลี่ยนเพื่ออะไร เปลี่ยนแล้วระบบการศึกษาจะดีขึ้นหรือไม่ และเปลี่ยนแล้วนักเรียนได้ประโยชน์อะไร” นายก ส.บ.ม.ท.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)