'รมว.ศธ.'สั่ง ร.ร.คืนเงินค่าเทอมช่วงโควิด-19 'เอกชน'โอด ผปค.ค้างกว่าพัน ล.

 จับกระแสข่าวเด่น : edunewssiam /31 พฤษภาคม 2564 

'ตรีนุช'สั่ง ร.ร.สังกัด ศธ.คืนเงินค่าเทอม 

'เอกชน' โอด! ผปค.ค้างจ่ายกว่าพันล้าน

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน 

tulacom@gmail.com

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด- 19 ส่งผลให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพการไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล หรือ มีความพร้อมประสงค์จะจัดการศึกษาในรูปแบบ On Site โดยเรียนที่โรงเรียน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์การประเมินของระบบ Thai StopCOVID Plus (TSC+) และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน 

ว่าไปแล้ว ไม่ว่าการเรียนการสอนจะเป็นรูปแบบใดนับเป็นเรื่องที่ดีตามสภาพในความเป็นไปได้ของท้องถิ่น แม้ว่าการเรียนการสอนทางไกล หรือ ทางสื่อออนไลน์ จะมีข้อจำกัดขั้นพื้นฐานหลายด้านในการสื่อสาร อาทิ สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เสถียร เรียนออนไลน์ทำได้แค่ฟังครูสอน ไม่สามารถโต้ตอบกันได้ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ภาพประกอบยังไม่ชัดเจน และตามเนื้อหาที่ครูสอนไม่ทัน ทำให้การเรียนการสอนยากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถยกมือถามกันได้หากไม่เข้าใจ ไม่เหมือนกับการเรียนในห้องเรียน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกังวลว่า การเปิดเทอมในวันที่ 14 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 น่าจะยังคงมีอยู่ แม้หลายคนอยากให้ปิดเรียนต่อ แต่โรงเรียนน่าจะมีการลดค่าเทอมและค่ากิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้ปกครอง เพื่อนำไปใช้จ่ายภายในบ้านที่เพิ่มขึ้น เพราะเด็กหยุดเรียนหรือไม่ได้ใช้เวลารวมถึงทรัพยากรในโรงเรียนทั้งหมดตามปกติ อย่างที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับรูปแบบการเรียนดังกล่าวข้างต้นยังไม่สมบูรณ์ นำมาสู่การร้องเรียนของผู้ปกครองถึงเรื่องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นจากผู้ปกครอง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาจำนวนมากในราคาแพงเต็มพิกัด เห็นได้จากการจัดศึกษาสำหรับเด็กในโปรแกรมอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ การเรียนในโปรแกรมสองภาษา จึงเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นและง่ายดายในสถานศึกษารัฐและเอกชนทั่วประเทศ

ดังนั้น การค่าเรียนภาษากับครูต่างชาติที่ผูกติดกับความพิเศษของหลักสูตรดังกล่าว จึงเป็นข้อสมอ้างในราคาที่ค่อนข้างสูง และพ่วงด้วยการต้องจ่ายค่าปรับฐานความรู้ ค่า กิจกรรม  ค่าอาหารกลางวัน ค่าห้องเรียนปรับอากาศ  ค่าเอกสารตำรา ค่าเรียนคอมพิวเตอร์  ค่าอาหารว่าง  ค่าประกันอุบัติเหตุ  ค่าทัศนศึกษา ค่าตรวจสุขภาพ และ ค่ารถรับส่ง  ค่าบริการในห้องสมุด ฯลฯ 

ทราบมาว่า รายการดังว่านี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ได้จ่ายในปีการศึกษา 1/2564 ไปแล้ว และไม่แน่ใจว่าหากสถานการณ์โควิด ยังไม่คลี่คลาย เด็กอาจต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เงินที่จ่ายไปควรได้รับคืนหรือไม่

การที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึษาธิการ  ได้แก้ไขปัญหาโดยลงนามในประกาศ ศธ.เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม 

โดยให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนประกาศไปยังสถานศึกษา ให้ถือปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

 

ตอกย้ำด้วย ในกรณีที่สถานศึกษาได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และในกรณีที่สถานศึกษา หากมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสม เป็นกรณีไป

รวมทั้งพิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม

ว่าไปแล้ว การลงนามในประกาศ ศธ. ของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. คราวนี้ คงไม่ค่อยส่งผลต่อสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.หรือในกำกับ ของ ศธ. เท่าใดนัก เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีกฎระเบียบกำกับไว้แน่นหนาพอสมควร  

ก็ไม่แน่นักกับการตีเนียนของสถานศึกษาภาครัฐ ส่วนใหญ่ มักจะมีเงื่อนไขพิเศษเป็นข้ออ้างผิดตกยกเว้นมากมายเพื่อหลบเลี่ยงคำสั่งดังกล่าว 

แต่สำหรับสถานศึกษาเอกชนในกำกับของ สช.ศธ. เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยย่อมได้รับผลกระทบในวงกว้างแน่นอน เนื่องจากต้องปฏิบัติตามประกาศอันเป็นมาตรการที่ ศธ.กำหนดไว้ในลักษณะเดียวกัน  ซึ่งขณะนี้ทราบว่าหลายโรงเรียนยังไม่สามารถเรียกเก็บค่าเล่าเรียน ปีการศึกษา 1/2564 ได้เลย นอกจากการขายหนังสือ ตำราเรียน เท่านั้น หรืออาจจะมีบางแห่งอาจก้าวไปถึงเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองไปเรียบร้อยแล้วก็ได้  

อย่างไรก็ตาม การประกาศอาจส่งผลให้โรงเรียนเอกชนบางแห่ง อาจต้องปิดกิจการลง เนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว อาทิ ต้องจ่ายเงินเดือนครูตรงเวลา ถึงแม้รัฐจะส่งเงินอุดหนุนรายหัวให้ครูบางส่วน และบางแห่งใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการเรียนจ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างแทน เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนรัฐจ้าง ก็ตาม

นอกจากนี้ โรงเรียนเอกชนจำนวนมิใช่น้อยที่ทำงานด้านการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา ยังแบกรับปัญหาค่าใช้จ่าย อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย รวมถึงค่าดูแลรักษาโรงเรียน นี่ยังไม่รวมถึง การพัฒนาครู การลงทุนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ การดูแลรักษาสุขภาพอาคาร สถานที่ ตลอดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยตามมาตรฐานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค) อีกด้วย

จากการสืบค้นข้อมูล ของ edunewssiam พบว่า สิ่งที่โรงเรียนเอกชนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มี ประมาณ 1,800 แห่งทั่วประเทศ จากทั้งหมดกว่า 3,800 แห่ง เมื่อโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนตามปกติได้  รายรับต่าง ๆ ย่อมขาดหายไป จำนวนนักเรียนลดน้อยเพราะไม่มีใครมาสมัครเข้าเรียน

นอกจากนี้ ยังพบตัวเลขมีผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม ร.ร.เอกชนทั่วประเทศรวมกว่า 1,300 ล้านบาท และส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ยังคงให้นักเรียนเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ และมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่ย้ายลูกไปเรียนที่อื่น โดยมีหนี้ค้างจ่ายส่วนนี้ประมาณ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่โรงเรียนเอกชนเท่านั้น ที่ประสบปัญหาผู้ปกครองยังไม่ได้จ่ายค่าเทอมตั้งแต่ปีการศึกษาที่แล้ว โรงเรียนของรัฐ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ในสังกัด สพฐ.จำนวนมาก ต่างก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยบางโรงเรียนมียอดผู้ปกครองค้างจ่ายนับ 10 ล้านบาท 

ในขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนส่วนหนึ่งก็พยายามเรียกร้องให้ทางโรงเรียนคืนเงินที่ไม่ได้ใช้จ่ายจริงในช่วงที่บุตรหลานเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน เช่น ค่าห้องเรียนแอร์ที่เรียกเก็บจากนักเรียนห้องเรียนพิเศษ แต่โดยข้อเท็จจริงถึงแม้จะเป็นโรงเรียนของรัฐก็ตาม มักจะมีข้ออ้างไม่คืนเงินให้ อาทิ อ้างว่ามีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เป็นต้น

ดังนั้น หาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง จะคิดช่วยดูแลหาทางช่วยเหลือ เฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเอกชนพันธ์ุไทยใจสู้ ให้อยู่รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 เป็นการด่วน คงน่ายินดีไม่น้อย

เนื่องจาก ปัญหาโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลาง ไปถึงใหญ่แบบไทยแท้ ที่มีจิตวิญญาณทำงานเพื่อการศึกษาจริง ๆ กำลังเผชิญกับความลำบากกว่าโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อฝรั่ง ค่าเล่าเรียนแพงระยับ โดยต้องพยายามประคับประคองตนเองให้สามารถยืนอยู่ได้ เพราะในอดีตไม่เคยพบสถานการณ์ที่หนักหน่วงเช่นที่ว่านี้  

EDUNEWSsiam.com

 

editor@edunewssiam.com

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)