ครูโวย!เลยต่อประกันกู้ ช.พ.ค.3 ด.แล้ว สกสค.ยังเงียบ แฉ 'สกสค.จว.'ส่อขาดเงิน

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.มีปมประเด็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และประธานคณะกรรมการ สกสค. เร่งเข้ามาสะสาง 3 เรื่องด้วยกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษาเกือบ 1 ล้านคนทั่วประเทศ

โดยนอกจากเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร รวม 64 จังหวัด ที่ น.ส.ตรีนุชได้สั่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง เมื่อเร็วๆ นี้ แล้ว โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธานกรรมการ

ยังมีเรื่องความสับสนไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำประกันสินเชื้อเงินกู้ในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการที่ 5-7 ซึ่งตนได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยัง น.ส.ตรีนุชให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อนหน้านี้แล้ว 

สานิตย์ พลศรี

โดยล่าสุดตนได้รับร้องเรียนจากกลุ่มเพื่อนข้าราชการครูฯบำนาญว่า ได้ทำประกันตั้งแต่เริ่มกู้เงินธนาคารออมสินเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วกับบริษัท ทิพยประกันภัย ที่สำนักงาน สกสค.หามาให้ โดยมีอายุกรมธรรม์ 9 ปี หลังจากนั้น สกสค.ให้ต่อสัญญาประกันเงินกู้แบบปีต่อปี แต่ในปี 2564 นี้ เลยกำหนดต่อสัญญาประกันมา 3 เดือนแล้ว สกสค.ส่วนกลางยังไม่แจ้งอะไรให้ทราบ จะให้ต่อสัญญาเมื่อไหร่ หรือว่ายกเลิกไปแล้ว 

ในขณะที่สมาชิกครูฯผู้กู้บางคนบอกว่า มีบริษัทประกันมีหนังสือแจ้งผู้กู้ถึงบ้านตามที่อยู่ที่ให้ไว้กับธนาคารออมสินให้ต่อประกันภายในวันที่ 31 มกราคม 2564  แต่บางคนบอกไม่ได้รับจดหมาย และคิดว่าทางธนาคารออมสินอาจจะจ่ายให้แทน แล้วเอาค่าประกันที่สำรองจ่ายไปทบเป็นเงินกู้ของสมาชิกครูฯผู้กู้ โดยจ่ายเงินทำประกันเป็นรายปี

เรื่องนี้เป็นความสับสนของสมาชิกครูฯผู้กู้ทั่วประเทศ ที่ น.ส.ตรีนุชต้องเร่งเข้ามาสะสาง ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกครูฯและครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วจำนวนมากกับสมาชิกครูฯในภาคอีสาน 

เนื่องจากไม่ได้ทำประกันเงินกู้ต่อ อาจจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น ไม่ได้รับแจ้งจาก สกสค. หรือมีความเชื่อว่า สกสค.กำลังหาบริษัทประกันราคาถูกมาให้ หรือมีความคิดว่ากู้มานานนับสิบปีแล้ว อาจไม่ต้องทำประกันอีก แต่สุดท้ายเมื่อสมาชิกครูฯผู้กู้เสียชีวิตลง ทายาทกลับไม่ได้รับผลประโยชน์จากเงินฌาปนกิจ ช.พ.ค.ร่วม 1 ล้านบาทในปัจจุบัน เพราะ สกสค.นำเงินนี้ไปใช้หนี้ให้กับธนาคารออมสินตามเงื่อนไข

“ดังนั้น ตนขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุชให้เร่งเข้ามาสะสางให้เกิดความชัดเจนและเกิดแนวปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายต่อไปด้วย”  

อดีต ผอ.สกสค.จังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องสำคัญที่ขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช โดยเฉพาะในฐานะประธานบอร์ด สกสค.ได้ลงมาสะสางคือ ปัญหาความอยู่รอดของสำนักงาน สกสค.จังหวัด/กรุเทพมหานคร รวม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้อีกในไม่กี่ปีนี้ 

เนื่องจากที่ผ่านมา สกสค.ใน 77 จังหวัด ใช้เงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. มาหล่อเลี้ยงเป็นเงินเดือนค่าจ้างตั้งแต่ ผอ.สกสค.จังหวัดลงมาถึงเจ้าหน้าที่ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหมดในสำนักงาน สกสค.จังหวัด เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.เพียงปีละประมาณ 100 ล้านบาท เพียงพอใช้เฉพาะใน สกสค.ส่วนกลางเท่านั้น

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ซึ่งแต่เดิม 10 กว่าปีที่ธนาคารออมสินได้หักดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการ ช.พ.ค.ของสมาชิกครูฯ 50 สตางค์ มาสมทบกองทุนฯ แต่เลิกไปในสมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยเงินสมทบที่ผ่านมามีจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น

เพราะธนาคารออมสินได้หักไปชำระหนี้แทนสมาชิกครูฯผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป รวมถึงเวลานี้น่าจะไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท อีกทั้งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้อนุมัติให้องค์การค้าของ สกสค.กู้เงินไปลงทุนและใช้หนี้สิน และยังนำไปร่วมลงทุนกับเอกชนจนถูกโกงสูญไปอีกรวมหลายพันล้านบาท

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของหน่วยงาน สกสค.ทั่วประเทศ มีรวมประมาณ 800 ล้านบาท แน่นอนว่า ย่อมจะอยู่รอดได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้น น.ส.ตรีนุชจะต้องเร่งรัดนายธนพร สมศรี เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ให้ติดตามทวงเงินคืนจากธนาคารออมสินให้ได้โดยเร็ว

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นายธนพรได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ.ว่า ตนเองกำลังติดตามและอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารออมสิน โดย สกสค.ทำหนังสือไปชี้แจงและประสานงานกับธนาคารออมสินแล้ว รอทางธนาคารออมสินติดต่อกลับมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ เวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนแล้ว ยังไม่ทราบข่าวคราวความคืบหน้าจากนายธนพร เรื่องเงียบหายไป นายธนพรได้ติดตามหรือไม่

“จริงๆ แล้ว เรื่องทวงเงินดังกล่าวคืนจากธนาคารออมสินของ สกสค. เข้าข่ายยิ่งทวง ยอดเงินทวงยิ่งเพิ่ม ทวงมาตั้งแต่ก่อนต้นปี พ.ศ.2560 ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่รู้ว่ามีเงื่อนงำอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่” 

แม้แต่ในสมัย นพ.ธีระเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2560 ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการธนาคารออมสินในสมัยนั้น เพื่อขอให้ธนาคารออมสินคืนเงินที่หักจากกองทุนดังกล่าว โดยยืนยันเหตุผลไปว่า ฝ่ายกฎหมาย สกสค.ได้ตรวจสอบสัญญาที่อดีตเลขาธิการ สกสค.ทำไว้กับธนาคารออมสินกรณีให้ธนาคารหักเงินจากกองทุนฯเพื่อชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไปได้นั้น เป็นสัญญาฝ่ายเดียว ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมที่ไม่ถูกต้อง แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งมาถึงยุคนายธนพร เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.คนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เงินคืน 

นายสานิตย์กล่าวตอนท้ายว่า ตนมีความห่วงใยในสถานภาพของสำนักงาน สกสค.จังหวัดทั่วประเทศ ที่ต้องดูแลบริการงานสวัสดิการและสวัสดิภาพแก่สมาชิกครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงขอเรียกร้อง น.ส.ตรีนุชได้เข้าไปกำกับ ติดตามและเร่งรัดนายธนพรให้ทวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทดังกล่าว คืนมาจากธนาคารออมสินให้ได้โดยเร็ว 

ทั้งนี้ เนื่องจากนายธนพรเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำ ศธ.เรื่องการทำประกันเงินกู้โครงการ ช.พ.ค.ก่อนหน้านี้ว่า "ตามหลักแล้ว ธนาคารออมสินในฐานะเจ้าหนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ครูเลือกบริษัทประกัน" ทั้งที่ตามกฎหมายการทำประกันสินเชื่อเงินกู้ จะต้องให้ผู้กู้ทำด้วยความสมัครใจ

"ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ของนายธนพรดังกล่าว อาจส่อว่ามีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ น.ส.ตรีนุชจึงควรเข้าไปติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อสงสัยนี้ด้วย เพื่อให้สำนักงาน สกสค.ทั่วประเทศได้เงินก้อนมหาศาลนี้คืนจากธนาคารออมสินมาหล่อเลี้ยงโดยเร็ว” อดีต ผอ.สกสค.จังหวัดชัยภูมิ 4 วาระ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)