ส่อง "ม.ราชภัฏ" ช่วยท้องถิ่นสู้ภัยโควิด-19

 

'มรส.'ชี้ทางเกาะพะงันสู้โควิด

ชูอัตลักษณ์ภูมิปัญญาพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน


ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ ทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 จึงเกิดผลกระทบในวงกว้าง อำเภอเกาะพะงัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันดับต้นๆ เมื่อนักท่องเที่ยวมีน้อยลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ท้องถิ่น

 


ทั้งนี้ เกาะพะงัน มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นเกี่ยวกับมะพร้าวที่ควรค่าแก่การศึกษา ค้นคว้าเก็บข้อมูล และอนุรักษ์ ซึ่งพบว่า ปัจจุบันเริ่มมีกลับมาสู่วิถีดั้งเดิม ตามภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษแนะนำสั่งสอน เช่น การย่างมะพร้าวแบบโบราณ การผลิตสิ่งของอุปโภคบริโภคจากทุกส่วนของต้นมะพร้าว ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา และสามารถช่วยสร้างรายได้แก่ครอบครัวอย่างยั่งยืน จึงควรส่งเสริม พัฒนาอนุรักษ์ ต้นมะพร้าวให้คงอยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะมากกว่ารายได้ คือ จิตวิญญาณของบรรพบุรุษที่ แฝงอยู่ในวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างเพจขายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแบบ online"  โดย อ.พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย คณะวิทยาการจัดการ , "การสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามะพร้าว และการสร้างเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวเพื่อการท่องเที่ยว" โดย อ.เกสสินี ตรีพงศ์พันธุ์ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว เป็นต้น

 

  

 

เปิดโรงพยาบาลสนาม มรภ.อุบลราชธานี                          

รองรับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีนโยบายการดูแลคนอุบลราชธานีที่ติดเชื้อ COVID-19 ภายใต้สโลแกน คนอุบลฯไม่ทอดทิ้งกัน ให้รับการรักษาผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อที่เป็นคนอุบลราชธานีและอยู่ต่างถิ่น ไม่มีเตียงว่างและไม่มีโรงพยาบาลว่างรับการรักษา ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 มีจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในอำเภอและโรงพยาบาลเฉพาะกิจทั้ง 7 แห่ง จะรองรับได้  จึงมีการเปิดโรงพยาบาลสนามยางน้อย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาเขตบ้านยางน้อยขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อCOVID-19 ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1000 เตียง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาล รองรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในและให้การดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เพื่อรับการดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อCOVID-19 ที่มีอาการคงที่แล้วและส่งตัวมาจากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต

การบริหารจัดการในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม มีการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับโรงพยาบาลสนาม ด้านสถานที่ปฏิบัติงานและที่พักยาและเวชภัณฑ์ระบบการดูแลผู้ป่วยและส่งต่อระบบรักษาความปลอดภัย  ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับจังหวัด หน่วยงานและ องค์กร ต่างๆ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมที่จะรับการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มรูปแบบ

 

 

ผู้ว่าฯร้อยเอ็ดลงพื้นที่ ม.ราชภัฏ 

ตรวจความพร้อมเปิด รพ.สนามแห่งที่ 2

 

นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามแห่งที่สอง  ณ โรงยิมเนเซี่ยมอาคารศรีรัศมี์ยุวชน มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ซึ่งจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยพี่น้องประชาชนบางส่วนของจังหวัด ประมาณ 250 เตียง ที่กลับมาบ้านเกิดอำเภอเสลภูมิ ซึ่งชาวจังหวัดอุบลที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จะได้เป็นกำลังใจให้ทุกคนร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ไปต่อ หลังพบหอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ดเต็มทั้ง 200 เตียง 

นายชยันต์ ผู้ว่าฯร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการที่ได้มาดูพื้นที่ ม.ราชภัฏร้อยเอ็ดในวันนี้ พบว่ายังมีในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้างในส่วนที่ต้องเร่งปรับปรุง ซึ่งไม่น่ามีปํญหา และจากการประชุมร่วมกับทางนายอำเภอทั้ง 20 อำเภอ ทราบว่าในขณะนี้มีชาวร้อยเอ็ดบางส่วนที่ทราบว่า มีการติดเชื้อจาก 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยง รวมทั้งผู้ที่คิดว่าเป็นบุคคลเสี่ยงและอยากจะกลับมารักษา ซึ่งทางจังหวัดร้อยเอ็ดกำลังรอความคืบหน้าในเรื่องนี้อยู่ และจะมีการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเป็นแห่งที่สอง

ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในการดำเนินการโรงพยาบาลสนาม ทางจังหวัดร้อยเอ็ดจะเป็นผู้เตรียมการ และในส่วนของการอำนวยความสะดวกเป็นของทางมหาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จัดฝ่ายจัดสถานที่ให้โดยกำหนดให้โรงยิมเนเซี่ยมอาคารศรีรัศมี์ยุวชนของ มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่กักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอสำหรับพี่น้องประชาชนประมาณ 200 เตียง 

ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือพื้นที่กักตัวนั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และได้รับแจ้งจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯให้จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ราชภัฏสามารถที่จะช่วยได้อย่างเต็มกำลังความสามารถอยู่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จะเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดในการที่จะช่วย แต่อาจจะมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ที่ว่า  หากมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแล้ว จะมีผลกระทบในเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

"ดังนั้น การที่ทางจังหวัดได้มีการปรับความเข้าใจเพิ่มเติมไปบ้างแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จะได้ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมในเรื่องของความเข้าใจร่วมกันในเรื่องการตระหนักร่วมกันที่จะช่วยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ดได้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน" รองอธิการบดี ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด กล่าว

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)