'ชวน ชม ชิม' ท่องเที่ยววิธีใหม่ ต่อลมหายใจ 'ป่าฮาลาบาลา'

 

ชวน ชม ชิม เที่ยว! ล้อเล่นกับพงไพร

พร้อมต่อลมหายใจ 'ป่าฮาลาบาลา' 

 

เขียน/ภาพ โดย: สุพจน์ อาวาส ปัตตานี

นันทรัตน์ นามบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือกับชุมชนตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง และชุมชนตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 'ป่าสิริกิตติ์' หรือ 'ป่าฮาลาบาลา'

ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีเนื้อที่รวม 836,000 ไร่ และเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา รวมถึงอำเภอศรีสาคร อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ และอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

โดยนำภูมิปัญญา อัตวิถี ตลอดจนตำนานป่า ผสมผสานกับแนวคิดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวชุมชน ออกแบบเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยววิธีใหม่ พร้อมทั้ง เตรียมเปิดสูตรและวิธีปรุงอาหารตาม 'ตำนานแห่งพงไพร' ซึ่งยังมิได้มีการเผยแพร่ หรือ เปิดตัวให้ชิมลิ้มลองกันมาก่อน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงกระตุ้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และขยายการเติบโตของเศรษฐกิจ ตามเป้าหมายของ 'แผนการพัฒนาจังหวัดยะลา ระยะ 5 ปี (2561-2565) ซึ่งมุ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต (ให้มีความ) มั่นคง เกษตร (กร) มั่งคั่ง และ (การ) ท่องเที่ยวยั่งยืน

ดร.สุกฤษตา พุ่มแก้ว รองคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วิจัย ให้ข้อมูลว่า อาหารพื้นถิ่นโดยเฉพาะอาหารของพี่น้องประชาชนที่อยู่และใกล้ชิดกับป่า มีความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย แต่เข้มข้น และมีการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่อยู่ในธรรมชาติ ทั้งพืช ผัก กุ้ง หอย ปู ปลา และสมุนไพร ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ยังไม่มีการต่อยอด

"เรา (คณะวิจัยและชาวบ้าน) ได้พูดคุยกัน พร้อมทั้งร่วมกันปรับปรุงและออกแบบวิธีการนำเสนอที่ทันสมัย เป็นสากล เช่น นำใบกาแฟมาหั่นฝอย เพิ่มส่วนผสมและทำเป็น 'ยำใบกาแฟ' หรือ 'ยำใบโกปี้' หรือ นำ 'ต้าลี่หวัง' สมุนไพรชูกำลัง มาบดผสมกับเนื้อไก่ ทำเป็น'ไก่ทอดต้าลี่หวัง' หรือนำเนื้อปลาจากเขื่อนบางลาง ทำเป็น 'ข้าวทอดปลาเขื่อน' ที่ยังคงความเป็นอาหารปักษ์ใต้ที่มีรสชาติเข้มข้นแต่ละมุน หรือ นัว และน่าลิ้มลอง" 

ดร.สุกฤษตา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ป่าฮาลาบาลา หรือ Amazon of Asia เป็นป่าที่ยิ่งใหญ่ มีพืชและทรัพยากรทางธรรมชาติและสัตว์ป่าหายากมากมาย หรือหลากหลายสายพันธุ์ เรา (นักวิจัยและชาวบ้าน) จึงต่อยอดและรวมตัวกันจัดเส้นทางท่องเที่ยว ทั้งในรูปแบบของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

เช่น การปลูกป่าโดยใช้ไม้ซาง หรือกระบอกตุก ( อุปกรณ์ล่าสัตว์ของเงาะป่า หรือซาไก หรือมานิ หรือโอรังอัสลี ซึ่งใช้ไม้ไผ่ขนาดเล็กที่มีลำตรง 2-3 ปล้อง และเจาะภายในให้ปล้องทะลุหากัน เพื่อใส่ลูกดอกซึ่งอาบยาพิษเเละเป่าล่าสัตว์) หรือหนังสติ๊ก

และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบสร้างสรรค์ เช่น ร่วมกิจกรรมซึ่งจำลองแบบการต้อนรับสมาชิกใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) เรียนรู้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของสมาชิก พคม. วิธีการติดต่อสื่อสารด้วยระบบ Samuel Morse หรือปฏิบัติงานในฐานทัพจำลองของ พคม. หรือลงเรือไปจับปลาแบบประมงพื้นบ้านแนะนำปลาที่จับได้มาทำอาหารรับประทานร่วมกัน หรือทำเป็นปลาส้มติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นต้น

ปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะทีมวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. กล่าวว่า การระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) ส่งผลกระทบกับกิจกรรมการท่องเที่ยวของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ป่าบาลาฮาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต และชุมชนต่างๆ ในตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มิได้อยู่นิ่ง และจะนำงบประมาณที่ได้รับจาก วช.ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการและกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้คนโดยทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยวตามบริบทของวิถีชีวิตถัดไป (next normal)

"แต่ในช่วงนี้คงจะต้องเผยแพร่และนำเสนอรูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยวในลักษณะของการท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Tours) ผ่านสื่อต่างๆ ไปพลางก่อน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ กล่าวตบท้าย

          

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)