ส่องราชภัฏ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้ว : U2T ชาวบ้านปลื้มราชภัฎ

ส่องราชภัฏ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔

รายงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี : U2T

ผลงานเบิ้มที่บึงกาฬ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้ว U2T

ชาวบ้านปลื้มราชภัฎ 

จากการตรวจเยี่ยมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ U2T) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ ณ วัดถ้ำศรีชมภู ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมคณะฯ  พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการ U2T โดยมี ผศ.จรูญ ถาวรจักร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อว.ส่วนหน้า จังหวัดบึงกาฬ นำคณาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่จ้างงาน ผู้นำชุมชน และ ประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมต้อนรับนำเยี่ยมชมผลงานทั่วทุกจุด ดูเหมือนจะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างได้ผล วัดได้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มาเยือนกับผู้นำผลิตภัณฑ์อันเป็นผลงานมาจัดแสดง โดยเฉพาะชาวบ้านในชุมชนชื่นชมกับโครงการฯที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร ได้ลงไปช่วยพัฒนาต่อยอดจนเกิดมรรคผลอย่างที่เห็น

งานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตำบลถ้ำเจริญ อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ดังกล่าวได้ก่อเกิดรายได้และสามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชน การต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาชุมชน เห็นศักยภาพของผู้นำชุมชนและท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ถูกนำมาใช้หลากหลาย อาทิ หัตถกรรมการทอผ้าทอมือ หัตถกรรมด้านการจักสาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมปั้นขลิบ ที่เป็นการสืบสานต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นของชุมชนสูงด้วยคุณค่า

จากข้อมูลเบื้องต้นชุมชนตำบลถ้ำเจริญ ตั้งห่างจากที่ว่าการอำเภอโซ่พิสัย ประมาณ 15 กิโลเมตร พื้นเพเดิมเป็นกลุ่มชาติภูไท ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดสกลนคร ประกอบไปด้วย 12 หมู่บ้าน มีพื้นที่ 30,112 ไร่ หรือ 48ตร.กม. มีจำนวนประชากรทั้งหมด 9,133 คนและ มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,844ครัวเรือน ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สถานที่สำคัญและถือเป็นแหล่งรวมใจของคนถ้ำเจริญ คือ วัดถ้ำศรีชมภู ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในพื้นที่และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอ.โซ่พิสัย โดยภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทพระเจ้าสามองค์ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มากราบไหว้บูชา ซึ่งภายในวัดเองยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลานพระเวด ที่เป็นหินขนาดใหญ่มีลวดลายคลายเกล็ดพญานาคซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และยังมีเส้นทางศึกษาการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ต่างๆไว้อย่างอุดมสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พบอีกว่า อาชีพหลักในชุมชน คือ การทำเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ปลูกสวนยางและทำนา ส่วนอาชีพเสริม คือ มีฝีมือในด้านหัตถกรรมการทอผ้าทอมือ และ การทำขนมปั้นขลิบที่เลื่องลือในชุมชน ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จึงได้จัดวางกิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1.การสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาผ้ำทอมือกลุ่มผ้ำทอสาวภูไท จัดกิจกรรมพัฒนาผ้าอิสานด้วยการย้อมครามและสีธรรมชาติจากดอกดาวเรือง การออกแบบดอกดาวเรือง/ลายดอกลายลูกยางนา(หมากปิ่น) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และการออกแบบบรรจุภัณฑ์กลุ่มผ้าทอมืออิสาน เริ่มจากทีมงานอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายธรรมชาติสู่การผลิตผ้าทอมือ เพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ตามด้วยจัดกิจกรรมฝึกอบรมการออกแบบและการตัดเย็บผ้าทอมือ การออกแบบลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้พร้อมเข้าสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับพื้นฐานและท้องถิ่นต่อไป

กิจกรรมที่ 2.การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมปั้นขลิบสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การดำเนินงานมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ด้วยการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ไส้ขนมปั้นขลิบ จำนวน 2 ไส้ ได้แก่ ไส้ปลาและไส้เห็ด รวมถึงการสร้างตราสินค้า สลากสินค้าบรรจุภัณฑ์ อบรมพัฒนาตลาดออนไลน์ ส่งเสริมการตลาดและช่องทางการตลาด และ อบรมการคำนวนต้นทุนผลิตภัณฑ์การต่อยอดนวัตกรรมเพื่อการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด
 

ภายใต้การดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยอุดรธานี ที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและจัดนิทรรศการแสดงสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหัตถกรรม(ผ้าทอมือ)และผลิตภัณฑ์ชุมชนขนมปั้นขลิบ ล้วนเป็นการช่วยเหลือชุมชนและท้องถิ่นทั้งทางด้านเศรษฐกิจคุณภาพชีวิตและการเผยแพร่สินค้าชุมชนให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญาเพื่อความวัฒนาถาวรสืบไป

รายงานยังได้ยกถึงคำบอกเล่าของ นางจิรพัฒน์ ศรีกำพล ตัวแทนจากกลุ่มทอผ้าสาวอุไท บ้านถ้ำเจริญ เล่าถึงวิธีการและความรู้สึกประทับใจในการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อีกด้วยว่า


“ตอนแรกที่เขาเข้ามาดูแลมาส่งเสริมเรื่องการทอผ้า เขาถามเราว่า อยากทอผ้าอะไร จะทอสีจากอะไร เราก็เลยบอกว่าเราอยากทอสีจากธรรมชาติ ทางราชภัฏก็ถามว่า แล้วในบ้านเรามีวัตถุดิบอะไรที่เป็นธรรมชาติในท้องถิ่นเราอยู่แล้ว เราก็เลยเล็งเห็นดอกดาวเรืองที่อยู่วัดถ้ำศรีชมพู คือ มีสาธุชนมากราบไหว้เยอะในทุกวันพระ จะมีการทำบายศรีมาถวาย แล้วก็ดอกไม้โดยเฉพาะดอกดาวเรืองเหลือเยอะมาก ทางราชภัฎก็เลยมาช่วยสนับสนุนการย้อมสีจากดอกดาวเรืองให้ได้สีเหลือง เวลาเอาไปทอผ้าแล้วใครที่ได้สวมใส่ก็จะเป็นศิริมงคลด้วย เพราะดอกดาวเรืองที่เอามาย้อมสี นั้นได้ถวายให้พระแล้ว แล้วนำมาใช้ย้อมสีเพื่อไม่ให้ดอกดาวเรืองเสียเปล่าให้ใช้ประโยชน์ได้จนเป็นที่มาสู่สโลแกนมีที่ว่า “จากศรัทธาสู่ผืนผ้าที่สวยงามและเป็นศิริมงคล” เชื่อว่าคนที่ได้สวมใส่ผ้าทอที่ย้อมสีจากดาวเรืองทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนดอกดาวเรือง นอกจากนั้นยังมีสีอื่นอีกมากมายที่กำลังทำอยู่ ผลิตภัณฑ์ที่มีก็จะเป็นเสื้อผ้ากระเป๋า ที่สำคัญมีเด็ก ๆ จากราชภัฏเข้ามาช่วยเรื่องการขาย โดยเฉพาะการขายออนไลน์ การทำสีที่ได้มาตรฐาน มีความสมดุลและสม่ำเสมอ


ส่วนประโยชน์ของการทำสีย้อมผ้าจากดาวเรือง คนที่ได้สวมใส่จะไม่แพ้ ไม่คัน เพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ยใส่สารเคมีจึงต่างจากสีเคมี ปลูกก็ง่ายตามไร่ตามนาร่องสวนได้หมด ที่สำคัญดอกดาวเรืองที่ถวายพระแล้วไม่เอาไปทิ้งเหมือนทั่ว ๆ ไป สามารถใช้ได้ทั้งแบบแห้งและสด สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกดาวเรืองได้ด้วยโดยการเอามาขายให้กับกลุ่มทอผ้าของเรา ซึ่งเราก็รับซื้อเหมือกันซึ่งก็ได้ประโยชน์หลายทาง” ตัวแทนจากกลุ่มทอผ้าสาวอุไท บ้านถ้ำเจริญ กล่าว

                                                                                                                                                                โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ  U2T ที่ ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ  โครงการนี้ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ บึงกาฬ อุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ดูแล มีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 2,370 คน โครงการมีความโดดเด่น คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหัตถกรรมผ้าทอมือเรา ที่ถูกละเลยสามารถพลิกฟื้นและนำไปต่อยอด การย้อมสีธรรมชาติและการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่นอย่างราชภัฏ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่มาตรฐาน และเพื่อต่อยอดนวัตกรรมท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าทางการตลาด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชุมชนที่มีผู้คนให้เกิดคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา.

 

edunewssiam>ส่องราชภัฏ>yoodchat2010@gmail.com

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)