อนุ กมธ.งบฯ 65 สภาผู้แทนฯแขวน สพฐ. 1 หมื่นล้าน เล็งตัด ร.ร.คุณภาพของชุมชนฯ

สภาผู้แทนฯแขวนงบฯ สพฐ. 1 หมื่นล้าน

อนุ กมธ.เล็งตัด ร.ร.คุณภาพของชุมชน-ร.ร.ดีสี่มุมเมือง

 

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 จากกรณีที่รัฐบาลได้ปรับลดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลดลงจำนวน 24,051 ล้านบาท หรือลดลง 6.7% จากปีงบฯ 2564 เหลือจำนวน 332,398.6370 ล้านบาท

ต่อมา นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เตรียมเสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณ รวมจำนวน 34,890 ล้านบาท

ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) 559 ล้านบาทเศษ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 33,364 ล้านบาทเศษ, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 575 ล้านบาทเศษ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 70 ล้านบาท และหน่วยงานและองค์การมหาชนในกำกับ ศธ. อีกจำนวน 231 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 40 ล้านบาท และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) 191 ล้านบาทเศษ

โดยอ้างว่า แต่ละหน่วยงานดังกล่าวมีโครงการจำเป็นเร่งด่วน อาทิ โครงการคืนครูให้นักเรียนสำหรับโรงเรียนในส่วนของค่าจ้างครูธุรการ , โครงการจัดหาบริการอินเทอร์เน็ตให้กับครูผู้สอน และนักเรียนสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฯลฯ นั้น

รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ

ล่าสุด สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยจากรองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ด้านการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

ได้พิจารณางบประมาณตามที่ สพฐ.ของบประมาณค่าดำเนินงาน ประมาณ 10,000 ล้านบาท และงบฯลงทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท แล้วมีมติให้แขวนงบฯทั้งจากงบฯค่าดำเนินงานและงบฯลงทุนไว้รวมจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อที่คณะอนุ กมธ.ฯจะได้มาพิจารณาตัดงบฯรายการที่ไม่จำเป็นออกรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

“ในส่วนของผมได้เสนอให้ตัดงบฯ สพฐ.ในรายการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เช่น โครงการโรงเรียนดีสี่มุมเมือง, โครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน, งบฯจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องเล่น, งบฯก่อสร้างสระว่ายน้ำ, งบฯก่อสร้างอาคารเรียน เพราะจำนวนเด็กลดลงมากแล้ว, งบฯจัดอบรม เป็นต้น”

ดร.สุรวาท กล่าวด้วยว่า ตนเสนอให้คงไว้สำหรับงบฯค่าจ้างลูกจ้าง ค่าก่อสร้างที่ผูกพันมาจากปีที่แล้ว และอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สนองต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งควรจะไปตั้งงบฯเป็นรายจ่ายอื่น ดังนี้

1.เป็นค่าจัดซื้อจัดทำโครงสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสัญญาณฟรี อุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ตแจกฟรี หรือให้ยืมเรียน จานดาวเทียม โซล่าเซล หรือกระแสไฟฟ้า และรวมทั้งบทเรียนบนเครือข่ายที่สมบูรณ์ให้นักเรียนสามารถเรียนได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตามความพร้อมภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หรือในก้าวย่างสู่ความเป็นปกติใหม่ (New Normal)

2.จัดตั้งงบประมาณเพื่อจ้างครู ธุรการ ภารโรงและบุคลากรต่างๆ ในโรงเรียนให้เพียงพอและต่อเนื่อง ให้ว่าจ้างต่อทุกตำแหน่งในทุกโรงเรียน และ 3.เรื่องอื่นๆ ที่รองรับสถานการณ์โควิด-19

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)