'ผช.รมต.อว.' ปิ๊ง! อุดรโมเดล ระดม 'ราชภัฏอีสาน' ช่วยแก้ปัญหาโควิด-19

 

“ดนุช ตันเทอดทิตย์” ผช.รมต.อว.ปิ๊ง “อุดรโมเดล” ปรับการทำงานผู้รับจ้างโครงการ U2T ตั้งทีม CCRT ลงพื้นที่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ช่วยงานสาธารณสุขตรวจละเอียดคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนขยายทั่วอีสาน-ประเทศ

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผช.รมต.อว.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ให้ร่วมดูแลรับผิดชอบโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T

ดังนั้น ตนจะปรับการทำงานของผู้ที่ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ใหม่ ให้มาช่วยดูแลจังหวัดและสาธารณสุขในพื้นที่ โดยจะเริ่มที่ จ.อุดรธานี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด–19 นำร่อง “อุดรโมเดล” ซึ่งได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีทราบว่า ต้องการกำลังคนมาช่วยสาธารณสุขตำบล สาธารณสุขอำเภอ ในเรื่องการประสานงาน การกรอกข้อมูลผู้ป่วย การคัดกรอง หรือกระทั่งการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอย เป็นต้น

โดยจะให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่มีผู้ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T เป็นศูนย์กลางและจัดตั้งทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team : Bangkok CCRT) ซึ่งทีม CCRT จะลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ดำเนินการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19

ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า “อุดรโมเดล” จะมีคนทำงานที่เป็นผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ประมาณ 400 คน ในการช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งถือเป็นต้นแบบ ก่อนจะขยายผลไปจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏประมาณ 10 แห่ง และยังมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ

"สมมุติ อว.มีผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T จำนวน 6 หมื่นคน ตำบลละ 20 คน ถ้ามี Rapid Test หรือชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10–30 นาที สัก 6 หมื่นชุด แล้วออกไปค้นหาเชิงรุกในหมู่บ้านทั่วประเทศ จะสามารถแยกเอาผู้ป่วยมาดูตามอาการได้"

ผช.รมต.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะประสานกับโครงการ อว.พารอด ที่จะมีจิตอาสาหรือผู้ที่เคยป่วยโควิด–19 มาพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วย เชื่อว่าจะช่วยจังหวัด ช่วยสาธารณสุขได้มาก เพราะเวลานี้บุคลากรขาดแคลนมาก อย่างเช่น พยาบาล ยังต้องมาทำหน้าที่คีย์ข้อมูล โดย อว.จะเป็นกองหนุนช่วยเพื่อนของเรา คือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่า เราจะผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดไปได้อย่างแน่นอน

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)