รมว.อว.-ผวจ.บึงกาฬ ปลื้มโครงการ U2T เพิ่ม 'รายได้-ความเข้มแข็ง' ชุมชน

ที่วัดถ้ำศรีชมภู ต.ถ้ำเจริญ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ โดยมีนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนที่ได้รับการจ้างงาน เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก เมื่อเร็วๆ นี้ 

มีกลุ่มชุมชนผ้าทอมือ กลุ่มผ้าทอสาวภูไท กลุ่มผ้าอีสานย้อมครามและสีธรรมชาติจากดอกดาวเรือง รวมทั้งชุมชนที่ทำขนมปั้นขลิบไส้ปลา ไส้เห็ด และผู้ได้รับการจ้างงานในโครงการ U2T ได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ผู้ได้รับการจ้างงานมาจากหลากหลายสถาบันการศึกษา มาทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันในแต่ละตำบล ได้ใช้ความรู้ความสามารถไปช่วยชาวบ้าน ขณะที่มหาวิทยาลัยก็มีเครื่องมือในการนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เช่น ชาวบ้านปลูกอ้อยได้ตันละ 1,200 บาท มหาวิทยาลัยและผู้ได้รับการจ้างงานก็มาช่วยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถทำรายได้จากตันละ 1,200 บาท เป็น 4-5 หมื่นบาทต่อตัน หรืออย่างเรื่องของผ้าทอมือของอีสาน กระทรวงมหาดไทยและสถาบันสิ่งทอก็มาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการตลาด และส่งเสริมการปลูกฝ้ายจากฝ้ายพันธุ์ดี เป็นต้น

นี่คือการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนปัญหาเป็นนวัตกรรม ที่โครงการ U2T จะทำภายใน 1 ปี ใน 3,000 ตำบล ซึ่งวิชาการ ความรู้จะผลิดอกออกผลไปทั่วประเทศ ตำบลอาจจะขาดในเรื่องขององค์ความรู้ แต่มหาวิทยาลัยจะใช้ตำบลเป็นสถานที่ปฎิบัติ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตำบล

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นคุณประโยชน์ของโครงการ U2T เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกันสร้างผลงานและทำตัวเองให้เป็นต้นแบบของ U2T คือ ต้นแบบเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้

"หลังจากนี้ อว.จะขยายโครงการ U2T จาก 3,000 ตำบล ให้ครบ 7,900 ตำบลทั่วประเทศ และที่สำคัญในวันที่ 19-20 มี.ค. ผมจะลงพื้นที่ในโครงการ U2T เป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.ลำปาง" รมว.อว.กล่าว

ด้านนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ทางจังหวัดให้การสนับสนุนโครงการ U2T อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งเรื่องของผ้าทอมือ ขนมปั้นขลิบ

การได้มหาวิทยาลัยและผู้ได้รับการจ้างงานมาช่วย จะทำให้ได้องค์ความรู้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน รวมทั้งการช่วยเพิ่มทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

"ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ ฉลากบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาด การขาย ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น ระยะ 1 ปีของโครงการ U2T ตนเชื่อว่าชุมชนจะเข้มแข็งมากขึ้น" ผวจ.บึงกาฬ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)