มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริกรมหลวงราชสาริณีฯ จับมือ อว.พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน

เลขาธิการมูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริ กรมหลวงราชสาริณีฯ ลงนามความร่วมมือกับ 4 หน่วยงานกระทรวงการอุดมศึกษาฯ วิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากพืช สร้างงาน-สร้างรายได้ผู้พ้นโทษ ขาดโอกาสและชุมชน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยในการลงนามความร่วมมือ เรื่อง “การสนับสนุนการศึกษาวิจัย พัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” และ “การสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทย” 

ระหว่างมูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.), มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุดรธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้

โดย ดร.เอนก กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ อว.ไปให้บริการมูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งจะมีผลต่อประชาชนและชุมชนต่างๆ

โดยมูลนิธินภาฯ จะเข้ามาช่วยทำแบรนด์ ทำตลาด เสริมในสิ่งที่ อว.ยังขาดอยู่ ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็นำความรู้ลงสู่ชุมชน เช่นเดียวกับ วว. และ วศ.จะได้นำงานวิจัยของตนเองมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. และ โฆษก อว. กล่าวว่า อว.จะนำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมาสร้างเป็นแบรนด์ไทยที่มีเข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

ขณะเดียวกันความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยสร้างทักษะให้กับชุมชนในการพัฒนาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นสากลยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ สามารถแข่งขันในตลาดสินค้าได้

ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 5 หน่วยงานจะร่วมกันศึกษา วิจัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยยึดหลัก BCG Model โดยนำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้ได้สินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี 

โดยไฮไลท์ คือการศึกษา วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทยท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อทำผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณของสมุนไพรไทยตามมาตรฐานสากลและสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้พ้นโทษ ผู้ขาดโอกาส และชุมชนอย่างยั่งยืน

ที่น่าสนใจคือการวิจัยสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทย ได้แก่ ดอกบัวแดง ดอกจันทน์กะพ้อ  ดอกเก็ดถวา และดอกกฤษณา เพื่อสกัดเป็นสารออกฤทธิ์สารหอมระเหย หรือสารสกัดรูปแบบอื่นที่สามารถนํามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ 

จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบการบํารุงผิว ผลิตภัณฑ์บํารุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม  ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการทําความสะอาดในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

"โดยในส่วนของ วว.จะมีการจัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดสารออกฤทธิ์และสารหอมระเหย จากพืชสมุนไพรให้กับมูลนิธิ ณภาฯในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ของสํานักงานโครงการส่วนพระองค์ของกรมหลวงราชสาริณีฯด้วย" ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)