'สุเทพ' ปลื้ม!เทคนิคสกลนคร อาสาซ่อมเตียงเก่า รพ. สู้โควิด-19

 

 

'สุเทพปลื้ม! เทคนิคสกลนคร อาสาซ่อมเตียงเก่า รพ.

ตอบโจทย์ฝึกวิชาชีพเชิงช่างสู้โควิด-19

นักศึกษา และคณาจารย์วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร หัวใจหล่อทั้งวิทยาลัย ตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเตียงพยาบาลเก่า-ชำรุดให้กลับมาใช้ใหม่ สู้โควิด-19 เลขาธิการ กอศ.ปลื้ม 

นายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า จากการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นับวันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ประสบปัญหาการออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพในในภาคเรียนนี้ตามหลักสูตร ที่อยู่ในเขตพื้นที่ระบาดหนัก คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี  

จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรให้นักศึกษาที่จะออกฝึกประสบการณ์ จำนวน 19 คน ฝึกงานที่สถานศึกษาแทน เพื่อทำให้ผู้ปกครองและวิทยาลัยคลายความกังวลใจ ประกอบกับได้รับการประสานงานขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล อ.เต่างอย จ.สกลนคร เกี่ยวกับการซ่อมเตียงที่ชำรุด

โดยมอบหมายให้ ครูประมวล รอนยุทธ หัวหน้าสาขางานยานยนต์ไฟฟ้า ครูที่ปรึกษานักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 สาขางานยานยนต์ไฟฟ้า แผนกเครื่องกล เป็นผู้ประสานงานนำรถยนต์หกล้อ พร้อมนักศึกษาเดินทางไปรับเตียงผู้ป่วยเก่าเพื่อมาทำการซ่อมที่วิทยาลัย พร้อมให้ใช้พื้นที่โดมอเนกประสงค์วิทยาลัย เป็นที่ทำงานทันที

นายสถิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร เล่าในรายละเอียดด้วยว่า ทีมงานครูและนักศึกษาได้ทำการประกอบเตียง พบว่า อุปกรณ์มีไม่ครบ มีสภาพชำรุดหลายจุด เช่น ล้อเตียงหาย ชำรุด พื้นกระดานเตียงทั้ง 3 ท่อนผุพัง กลไกปรับระดับเตียงไม่ทำงาน กระดานหัวเตียงและท้ายเตียงเสื่อมสภาพและสีของเตียงมีร่องรอยสนิม รอยถลอก ต้องปรับใหม่ โดยนำอุปกรณ์ที่เหลือมารวมกัน

โดยเริ่มทำการซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จนสามารถทำให้อยู่ในสภาพใช้ได้ทั้ง จำนวน 10 เตียง แล้วเสร็จส่งมอบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ณ สถานที่โรงพยาบาลสนาม อ.เต่างอย โดยงบประมาณในการซ่อมแซมได้จากการบริจาคและสนับสนุนจากครูและบุคลากรของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

จึงได้ประชุมหารือการซ่อมแซมเตียงผู้ป่วยเก่า เพื่อเป็นการช่วยจังหวัดแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ พร้อมกับนำเรื่องการฝึกวิชาชีพทักษะเชิงช่างที่นักศึกษาได้เรียนมาในรูปแบบของการฝึกประสบการณ์จริง โดยให้แผนกช่างสาขาต่าง ๆ ประสานความร่วมมือกัน ทั้งแผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเชื่อม แผนกแม็คคาทรอนิกส์และให้นักศึกษาหลัก สาขางานยานยนต์ไฟฟ้า ที่อยู่ในช่วงฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เข้ามาร่วมทำงานด้วย

จากนั้นได้แบ่งกลุ่มมอบหมายงานเพื่อปฏิบัติการออกเป็นจำนวน 5 กลุ่ม ทำการซ่อมแซมตามสภาพที่ชำรุด ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้มีทักษะช่างเบื้องต้นอยู่แล้ว จึงมีความคล่องตัว ทั้งนี้มีครูคอยแนะนำวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องและดูแลให้มีความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติงาน

ผอ.เล่าอีกด้วยว่า หลังจากซ่อมแซมไปแล้ว 10 เตียง ทางวิทยาลัยยังได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ขอความอนุเคราะห์ซ่อมแซมเตียงผู้ป่วยเก่า เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนามในเขต อ.เมืองสกลนครอีก 30 เตียง

วิทยาลัยสกลนครจึงได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์การแพทย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และได้รับการติดต่อประสานจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขต จ.สกลนคร เช่น โรงพยาบาล อ.เต่างอย ส่งมาให้ซ่อมแซมเพิ่มอีก 6 เตียง โรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา 40 เตียง วิทยาลัยเทคนิคสกลนครจึงได้ทำโครงการและขอความอนุเคราะห์การบริจาควัสดุอุปกรณ์การซ่อมแซมจากประชาชนทั่วไป โดยมีเป้าหมายว่า ต้องซ่อมให้ได้จำนวน 280 เตียง หรือมากกว่านี้

“การซ่อมแซมเตียง ผู้ป่วยเก่านี้มีครูที่ควบคุมดูแลหลักจำนวน 3 คน คือ ครูประมวล รอนยุทธ หัวหน้าสาขางานยานยนต์ไฟฟ้า ครูทวีศิลป์ จันทรังษี ครูสาขางานยานยนต์ไฟฟ้า และครูจักระพนธ์ ทวงศ์เฉลียว หัวหน้าแผนกแม็คคาทรอนิกส์ โดยมีครูจากแผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเชื่อมโลหะ ร่วมดูแลด้วย” นายสถิต สำราญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าว

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) หลังจากได้รับรายงานด้วยความปลื้มใจ พร้อมกล่าวชื่นชมวิทยาลัยเทคนิคสกลนครว่า เป็นการช่วยเหลือสังคมในช่วงเวลาวิกฤต นอกเหนือไปจากภาระหน้าที่สั่งสอนอบรมฝึกฝนความรู้ในเรื่องของช่างประเภทต่าง ๆ ที่เรียนอาชีวศึกษา รวมทั้งเรื่องของอาชีวะจิตอาสาทำความดีเพื่อสังคมอยู่ในสายเลือด

 

“ทั้งหมดนี้จึงทำให้ผู้เรียนอาชีวะสามารถนำความรู้ออกมาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์จริงได้ทันที  สังคมสามารถประเมินการทำงานของวิทยาลัยได้เป็นอย่างดีว่า สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคมได้มากน้อยเพียงใด” ดร.สุเทพ เลขาธิการ กอศ. กล่าว 

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)