41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ (จบ)

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพ ที่พูดย้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ยึดมั่นการเดินตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ที่ทรงก่อให้เกิดมูลนิธิพระดาบส  และโรงเรียนพระดาบส ตราบจนปัจจุบัน  สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ด้านของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

" คือ...1) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง  2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง  3) มีคุณธรรมและ 4) มีงานมีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองที่ดีมีระเบียบวินัย...

ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า สอศ.ได้ดำเนินการนำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ ระยะเวลา 1 ปี ในสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ จำนวน 12 แห่ง รับนักศึกษาเข้าเรียนแบบเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี รุ่นละไม่เกิน 30 คน ดำเนินโครงการอาชีวะพระดาบส  ตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยศึกษาแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการอาชีวะฯใช้งบประมาณของ สอศ. ในการดำเนินงาน

เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทย และสร้างคนดีให้ประเทศชาติ ใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  

เน้นย้ำโอกาสให้กับผู้ที่ขาดด้อยโอกาสโอกาสทางการศึกษา หรือประชาชนที่ต้องการมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางอาชีพ  แต่ไม่มีทุนที่จะเป็นค่าเล่าเรียนค่าฝึกอาชีพให้ได้เรียนอาชีพระยะสั้น  เพื่อเป็นเครื่องมือในการปูทางสู่ความเป็นคนดีมีงานทำ และมีความเชี่ยวชาญไปประกอบอาชีพ  สร้างงานสร้างรายได้ สร้างฐานะครอบครัว ไม่เป็นภาระแก่สังคม อันเป็นการสนองพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานดังกล่าว สอศ.จึงจัดโครงการศึกษาสายอาชีพ 1 ปีโดยน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริโรงเรียนพระดาบสมาเป็นเป้าหมาย

และเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส (โครงการอาชีวะพระดาบส) จำนวน 30 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการจัดทำโครงการอาชีวะพระดาบส ในสถานศึกษาภาครัฐ เพิ่มขึ้นอีก 18 แห่ง จากเดิม 12 แห่ง เพื่อให้ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ รวมจำนวน 30 แห่ง โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเที๊ยะ เลขาธิการ สอศ.เป็นผู้คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการอาชีวะพระดาบส  ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอดำเนินโครงการ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบ พ.ศ. 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท

นายวณิชย์  อ่วมศรี อดีตรองเลขาธิการกอศ. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสอศ. ผู้ริเริ่มโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางพระราชดำริรร.พระดาบส ฯลฯนายกสภาสถาบันอาชีวศึกษาภาคเหนือ1 ให้ข้อมูลเรื่องผลสัมฤทธิ์ ในการจัดการเรียนการสอนของสอศ.ที่สืบสานพระราชปณิธานแนวพระราชดำริอาชีวะพระดาบส ว่า...

จากรูปธรรม 3 รุ่นตั้งแต่ พศ.2561 มาถึงวันนี้ โดยเริ่มจาก 12 วิทยาลัยดำเนินการจัดการเรียนการสอน ผลสัมฤทธิ์ประจักษ์ชัดว่า อาชีวะพระดาบส สนองพระราชปณิธานในการสร้างคนดีให้สังคม สร้างคนให้ได้เรียนฝึกอาชีพ จนมีฝีมือสามารถนำไปทำงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นที่ถาวรยั่งยืน ที่เน้นย้ำได้เลยคือทำงานทำอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ขยันหมั่นเพียร อดทน  อันเป็นแบบอย่างของคนดี ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นขาดโอกาสดังกล่าว เพราะอยู่ในพื้นถิ่นห่างไกล ครอบครัวยากจน ไม่มีช่องทางให้แสวงหาความรู้การฝึกฝนอาชีพ

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมเจอวิกฤติโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดเข้าไปด้วย จากที่เรียน 100 คน ด้วยเวลา 1 ปี เรียนฟรี อยู่ประจำในวิทยาลัยฟรี อาหารฟรี เมื่อจบแล้วมีอาชีพได้จริง ทั้งทำงานในบริษัท ทั้งทำอาชีพอิสระเกิน 90 %  มีตัวอย่างชัดเจน เช่น นักศึกษาอาชีวะพระดาบสวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี / สุพรรณบุรี / พิจิตร จบแล้วเปิดร้านซ่อมเครื่องยนต์ แล้วยังทำเกษตรในพื้นที่ของพ่อแม่ไปพร้อมกันด้วยอีก

ส่งผลให้มีงานทำมีรายได้เข้าครอบครัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นอยู่มั่นคงพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน ทั้งยังเกื้อกูลคนในชุมชนด้วยสำนึกอาสาเสียสละ ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมที่มิได้มุ่งหวังประโยชน์ตน  เป็นต้นว่าการซ่อมเครื่องยนต์ต่าง ๆไม่ได้มุ่งเอากำไร หากแต่มุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลมากกว่าซึ่งตนเองครอบครัวไม่เดือดร้อน โดยทุกคนที่เรียนจบ มีใบมาตรฐานที่ต้องสอบผ่านจากกรมฝีมือแรงงานด้วย ทำให้รัฐบาลเห็นผลเป็นรูปธรรม

ตอนนี้ อาชีวะพระดาบสเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการหลายแห่ง ทั้งในด้านความเป็นคนดีของนักศึกษา ที่ได้รับการหล่อหลอมสำนึกแห่งคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจัง นักศึกษามีสำนึกความกตัญญู รู้จักเสียสละช่วยเหลือเกื้อกูล มีเมตตากรุณา สามัคคี อีกทั้งยอมรับทักษะฝีมือทางช่างที่เลือกเรียนก็ได้มาตรฐาน สถานประกอบการพอใจ เป็นไปดังพระราชดำริและพระราชปณิธาน  ยกตัวอย่างสถานประกอบการ B-Quik รับฝึกงานให้เงินเดือนประจำ แล้วยังได้ทำ MOU รับเด็กจบอาชีวะพระดาบสปีละ 100 คนเข้าฝึกงานโดย 3 เดือนแรกให้เงินเดือน ๆ ละ 10,500 บาท ค่าที่พักอาหารอีก 1,500 บาท  พอขึ้นเดือนที่ 4 เปิดโอกาสให้เป็นพนักงานประจำ  เพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้อีก  นายวณิชย์ อ่วมศรี กล่าว

นายวณิชย์กล่าวอย่างภูมิใจว่าจากผลสำเร็จในการดำเนินโครงการอาชีวะฯ จำนวน 3 รุ่นข้างต้น ประกอบกับมีสถานศึกษาให้ความสนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่บริการมีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าวจำนวนมาก สอศ.จึงได้จัดทำโครงการอาชีวะฯ ในสถานศึกษาภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 30 แห่ง (เดิม 12 แห่ง) โดยคัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ

ในครั้งนี้ ศธ.โดยนางสาวตรีนุช เทียนทองรัฐมนตรีว่าการศธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะฯ จำนวน 30 แห่งและได้รับความเห็นชอบจากครม.อนุมัติงบสนับสนุน 1.1 พันล้านบาทเศษสร้างช่างฝีมืออาชีวะพระดาบส โดยมีสาระสำคัญของโครงการอาชีวะฯ สรุปได้ ดังนี้

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส (โครงการอาชีวะพระดาบส) จำนวน 30 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท

ซึ่งทาง สอศ. ต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามกรอบวงเงินดังกล่าว ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนสรุปให้เห็นภาพ ดังนี้

ค่าใช้จ่าย จะเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นหอพัก ค่าก่อสร้างหอพัก ตลอดจนค่าตอบแทนครูดูแลหอพัก วงเงิน 371.42 ล้านบาท ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคาร ภายหลังการปรับปรุงหรือก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนการพิจารณาสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ คือ ความพร้อมของสถานที่และบุคลากรครู  ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระงบประมาณในระยะยาว

ดังนั้น การดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานโครงการ ต้องให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการทุกปีศึกษา เพื่อนำผลการติดตามและประเมินผลดังกล่าว ใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอตั้งงบประมาณและการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย

ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมในคุณธรรม จริยธรรม ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

สุดท้าย คือ การขยายผลโครงการอาชีวะฯ ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค  เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพ  และเป็นสถานศึกษาต้นแบบในการจัดการศึกษาวิชาชีพให้กับเด็กและเยาวชน  คือ เน้นการฝึกทักษะวิชาชีพควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และ จัดการศึกษาด้านอาชีพให้แก่เยาวชนเพื่อให้สามารถกลับไปทำงานในท้องถิ่นภูมิภาคของตนเอง

เป้าหมาย  เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือว่างงาน เข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ 1 ปี จำนวน  900 คน/ปี ซึ่งในระยะเวลา 10 ปี จะมีเป้าหมายรวม 9,000 คน

ตัวชี้วัดโครงการ : ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ ร้อยละ 100 มีรายได้เดือนละ 8,000 – 10,000 บาท ได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตนเอง ร้อยละ 100 ขณะเดียวกันสถานศึกษาอาชีวะที่ขาร่วม ต้องผ่านการประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอนจากมูลนิธิพระดาบส โดยโรงเรียนพระดาบส  ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี

แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ :

เริ่มจากการคัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ จากที่มีอยู่เดิม 12 แห่ง มีเกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษา ดังนี้ เป็นสถานศึกษาขนาดกลางหรือขนาดเล็ก สามารถให้บริการผู้เรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ได้ มีความพร้อมในการจัดการศึกษาอาชีวะ และ ผู้บริหารสถานศึกษามีความสนใจ สมัครใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการอาชีวะฯ

การวางแผนจัดทำหลักสูตร ที่เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอาชีวะฯ ประสานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา และ จัดการศึกษา เรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ( เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี )  

สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับผู้เรียน ระยะเวลา 1 ปี โดยใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ดังนี้ ระยะเวลา 6 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน 11 ทักษะอาชีพ เช่น ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ เป็นต้น / ในระยะเวลา 3 เดือน ผู้เรียนเลือกทักษะที่สนใจ เพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง / ระยะเวลา 2 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง / ระยะเวลา 1 เดือน ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษา ในสังกัด สอศ.ทั้ง 30 แห่ง ดังที่แจ้งรายชื่อวิทยาลัยไปเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งเป็นสถานศึกษาขนาดกลางหรือขนาดเล็ก สามารถให้บริการผู้เรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ได้ มีความพร้อมในการจัดการศึกษาอาชีวะ และ ผู้บริหารสถานศึกษามีความสนใจ สมัครใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการอาชีวะฯ พร้อมถวายงานสืบสานแนวพระราชดำริ โรงเรียนพระดาบส และนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2575 เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการอาชีวะฯ ต่อไป

แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ตาม  แต่ชาวอาชีวศึกษาทั้งหลาย ยังคงถวายงานสืบสานแนวพระราชดำริ ที่พระองค์มีน้ำพระทัยห่วงใยราษฎรจำนวนไม่น้อย ที่ยังตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ ซึ่งทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมอมา โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้  โดย สอศ.ใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส อย่างที่พระองค์ทรงมุ่งหวังเพื่อประชาราษฎร์  ด้วยความจงรักภักดี และ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณทั่วกัน 

โดยเฉพาะยุคใหม่นี้ น่าห่วงว่า การศึกษามุ่งเน้นด้านเงิน และวัตถุนิยมเป็นหลัก อ่อนแอในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่ขาดหายไป ซึ่งเป็นช่วงเดียวที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายยกรัฐมนตรี ได้ผลักดันเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและเศรษฐกิจพอเพียง สู่สถานศึกษาและสังคม ได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

 ........................................................

รายงานพิเศษ edunewssiam ( ตอนจบ )

เสกสรร สิทธาคม

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)