'ตรีนุช'เกาะติดหลักสูตรฐานสมรรถนะ ทดลองใช้ในเขตนวัตกรรมการศึกษา 1 ก.ย.นี้

 

 

'ตรีนุช' เกาะติดหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ดีเดย์ทดลองใช้เขตนวัตกรรมฯ 1 ก.ย.นี้

'ป.1-ป.3' ลดเวลา 1 พัน ชม.เหลือ 800

เรียน 7 สาระการเรียนรู้-จากเดิม 8 กลุ่ม 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ว่า ตามที่ ศธ.ได้กำหนดแผนปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

ตนมีความห่วงใยนักเรียนและครู จึงได้หารือกับคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเห็นควรปรับแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับครู โดยแผนปฏิบัติการที่ได้ปรับปรุงใหม่มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประการแรก วางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 ศธ.เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

ประการที่สอง ปรับปรุงสมรรถนะโดยพิจารณาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยในโลกปัจจุบัน จากเดิมมีสมรรถนะ 5 ด้าน ปรับเป็นมีสมรรถนะ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ 2.การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ 3.การสื่อสารด้วยภาษา 4.การจัดการและการทำงานเป็นทีม 5.การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6.การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน โดยเน้นมิติด้านคุณธรรม จริยธรรม รวมถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์และความเป็นไทยมากขึ้น

"การเพิ่มสมรรถนะการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืนดังกล่าว ก็เพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะทั้งด้านวิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน"

รมว.ตรีนุช กล่าวต่อว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่นี้ แตกต่างจากเดิมในสาระสำคัญ เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือชั้น ป.1-ป.3 ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ เป็นต้น

"คณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรฯ จะนำแผนที่ปรับเปลี่ยนใหม่ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 นี้ และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 และจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์" รมว.ศธ. กล่าว

วันเดียวกันนี้ (13 สิงหาคม 2564) นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการ กพฐ. ครั้งที่ 8/2564 ผ่านระบบห้องประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting โดยมีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์  เป็นประธาน

ทั้งนี้ นายเอกชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า จะมีการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก จะมีการขยายระยะเวลาการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ จากเดิมที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 เป็นการค่อยๆ ปรับใช้ในกรอบระยะเวลา 3 ปี

คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และปีการศึกษา 2567 จะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะพร้อมกันในทุกโรงเรียน ทุกช่วงชั้น

ประการที่สอง จะมีการเพิ่มสมรรถนะหลัก จากเดิม 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเอง, การคิดขั้นสูง, การสื่อสาร, การรวมพลังทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)