แซด!'ตรีนุช'สวนทางแผนปฏิรูปประเทศ ส่อถูกหลอก?ลุยหลักสูตรฐานสมรรถนะ

 

แซด!'ตรีนุช'สวนทางแผนปฏิรูปประเทศ

ส่อถูก ขรก.ศธ.หลอก?

ลุยหลักสูตรฐานสมรรถนะท่ามกลางโควิด

 

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผย ศธ.ได้กำหนดแผนปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรเดิมในสาระสำคัญ เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น หรือชั้น ป.1-ป.3 ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ เป็นต้น

เพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเอง, การคิดขั้นสูง, การสื่อสาร, การรวมพลังทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เพิ่มเป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

โดยวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 และจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ต่อไปนั้น

ปรากฏว่า ในขณะนี้แวดวงนักการศึกษาและนักวิชาการต่างวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่า น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กำลังเดินผิดทางหรือไม่? เพราะเชื่อข้าราชการใน ศธ.ที่ต้องการใช้งบประมาณในการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งตั้งโครงการไว้อยู่เดิมหลายปีแล้ว โดยมีงบประมาณดำเนินการเพื่อการนี้จำนวนหลายพันล้านบาท หรือไม่?

เนื่องจากการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น สวนทางกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘

โดยในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ข้อ ๒.๒ กิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ระบุไว้ชัดเจนดังนี้

การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้าน ประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของ ประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการ เรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ

ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่รู้ (Learn Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

“โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ”

ซึ่งในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกันด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้อย่างมีความสุข และพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

การมีครู อาจารย์ที่มีสมรรถนะ ด้านการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศการเรียนรู้ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง (Personalized Learning) อย่างมีความหมาย

การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติอย่างแท้จริง ตลอดจน มีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนและความพร้อมเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“แต่ไม่ใช่การมารื้อหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วจัดทำหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว ตามแนวทางที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่”

นักการศึกษาคนหนึ่งกล่าวด้วยว่า เฉพาะอย่างยิ่งการที่ ศธ.ประกาศนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่? ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จะมีความยุ่งยากและลำบากในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติได้ตามแนวทางหลักสูตรใหม่นี้หรือไม่?

"ศธ.มีเหตุผลแอบแฝงใดหรือไม่? หรือเกี่ยวข้องกับการได้ใช้งบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาทหรือไม่? จึงเป็นเหตุให้ ศธ.ต้องเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่?"

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนถึงกรณีที่ ศธ.ประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวว่า สิ่งที่เห็นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแต่ละครั้ง คือการโจมตีหลักสูตรเดิมว่าไม่ดี สำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น มีจุดบกพร่องที่ควรจะแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับใช้ กลับเชื่อว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ดี 100%

“ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด โดยเฉพาะการตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็ก ถูกมองว่าสูงเกินไปหรือไม่ ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ด้าน แหล่งข่าวนักการศึกษาใน ศธ.คนหนึ่งกล่าวว่า ในช่วงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีมาโดยตลอด ถามถึงคุณภาพและความเข้าใจของผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ

โดยเฉพาะประเด็นการไม่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติจริง สัมผัสเด็กจริงในแต่ละพื้นที่

จนต่อมาถึงช่วงปลายสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก่อนที่จะพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ในช่วงเวลานั้น นายณัฏฐพลได้มีการติดตามรับฟังเสียงแสดงความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ

"ว่ากันว่า หลังจากนั้นนายณัฏฐพลได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. และมีแนวทางให้ยกเลิกการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน แต่แนวทางนี้เงียบหายไปพร้อมกับการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" แหล่งข่าวนักการศึกษาใน ศธ.คนเดิม กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)