"ศ.สมพงษ์" แฉร่างหลักสูตรสมรรถนะ 'บวมย้วย' สงสารครู 2 ซิม

 

'ศ.สมพงษ์' แฉร่างหลักสูตรสมรรถนะ

"บวมย้วย-สงสารครู 2 ซิม"

แซด! 1 ก.ย.ทดลองได้แค่ ป.1 ไม่คุ้มเสี่ยง'ครู-น.ร.-ผปค.'ติดโควิด

จากกรณีศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา แสดงทรรศนะท้วงติงกรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

โดยศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ระบุว่า “ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว มีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็กที่สูงเกินไปหรือไม่? ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่?”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ถึงเรื่องนี้ว่า ตนเชื่อว่าเสียงคัดค้านการใช้หลักสูตรสมรรถนะจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะจากครูและบุคลากรการศึกษา จะได้ยินไปถึง ศธ. แต่อาจไม่รับฟัง เพราะน่าจะมีผู้มีอำนาจสั่งการให้เดินหน้า เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งผลงานของรัฐบาล ในการปฏิรูปการศึกษาที่จับต้องได้ นอกเหนือจากเรื่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า หลังจากตนทักท้วงเรื่องจุดบกพร่องของร่างหลักสูตรสมรรถนะที่กำลังจะนำไปนำร่องทดลองใช้ดังกล่าว ได้มีกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะพยายามมาชี้แจงให้ตนเข้าใจในข้อดีต่างๆ ซึ่งตนได้สอบถามกลับไปว่า เหตุผลที่แท้จริงในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากอิงมาตรฐาน มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นเพราะอะไร

เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ในโลกนี้มีนับร้อยๆ ประเภท เช่น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ก็ลอกมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตรสมรรถนะครั้งนี้ก็ลอกมาจากประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ที่จัดทดสอบความสามารถนักเรียน (PISA)

การปรับเปลี่ยนหลักสูตรแต่ละครั้ง ตนถามว่าเคยสอบถามนักเรียนหรือไม่ว่า พวกเขาซึ่งเป็นเด็กยุคใหม่กันหมดแล้ว อยากเรียนอะไรบ้าง ไม่ใช่ผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย ซึ่งน่าจะตกยุคไปแล้ว จะมาชี้นิ้วว่าควรต้องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ หลักสูตรประเทศไหนดีก็ไปลอกเขามา ซึ่งล้วนเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นแต่ผลิตคนออกไปรับใช้นายทุน จนทำให้เด็กไทยหนีห่างจากครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็อยากจะเปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีก

"ผมเชื่อว่า หลังจากใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะได้ไม่น่าเกิน 3 ปี ก็จะเปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีกเป็นอิงไอที เป็นการเรียนการสอนที่มีดิจิทัลแพลตฟอร์มมาเกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 50% ตามการเปลี่ยนแปลงในพัฒนาการของสังคมโลก"

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนสงสารครูในยุคเปลี่ยนผ่านหลักสูตรจากหลักสูตรปัจจุบันสู่หลักสูตรใหม่ ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 ปี ต้องกลายเป็นครู 2 ซิม แบกภาระทั้งหลักสูตรเก่าและหลักสูตรใหม่ อีกทั้งยังต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีก หากคณะกรรมการร่างหลักสูตรไม่มีความรู้จริง ทำให้เกิดความล่าช้าในความชัดเจนของหลักสูตร ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงอีก จนหลักสูตรใหม่ของรัฐบาลใหม่เข้ามาอีก จะยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อครูผู้สอนจะเกิดความยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะครูที่ยังยึดสอนนักเรียนตามหนังสือเรียนจนกลายเป็นคู่มือ

ทั้งนี้ ตนได้รับทราบมาว่า ในการร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ ได้มีความพยายามมานานนับปีแล้วในการวางกรอบหลักสูตร โดยมีผู้มีอำนาจคอยสั่งการให้เติมวิชานั้น วิชานี้เข้าไป จนหลักสูตรบวมย้วยไปหมด จากเดิมที่ควรจะมี 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ 1.ทักษะคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 2.ภูมิสังคม ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง 3.วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา และ 4.สร้างเสริมลักษณะนิสัย เน้นให้เด็กมองไปถึงอนาคต , ไอที เป็นต้น แต่จนมาถึงวันนี้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ กลายเป็นต้องมาเรียนถึง 7 สาระการเรียนรู้

"ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็น่าเป็นห่วงมากว่าจะประสบความล้มเหลว ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่อีกในรัฐบาลชุดต่อๆ ไป เนื่องจากผิดหลักการร่างหลักสูตร ที่จู่ๆ จะให้ใครมาสั่งเติมวิชานั้น วิชานี้เข้าไปได้ โดยปราศจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ซึ่งเข้าข่ายลักษณะเดียวกันกับการกำหนดสมรรถนะด้านการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง 1 ใน 6 สมรรถนะในร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจของคนที่ร่างหลักสูตรว่า การเป็นพลเมืองที่ดีที่เข้มแข็งนั้น เป็นเรื่องคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นเป้าหมายของทุกประเทศ อยู่สูงกว่าการจัดให้เป็นแค่เพียงสมรรถนะเท่านั้น”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวตอนท้ายว่า ตนได้แต่หวังว่าในการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจะได้เปิดรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ จากสถานศึกษา ทั้งครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ท้องถิ่น และในอนาคตหวังว่าจะเห็นการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน อยากเห็นสถานศึกษาใช้หลักสูตรแกนกลางจากส่วนกลางเพียง 30% และใช้หลักสูตรสถานศึกษา 70%

แหล่งข่าวในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า คณะทำงานร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังคงประชุมเตรียมการจัดทำคู่มือสำหรับการนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่จะเริ่มประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ในสถานศึกษาประมาณ 286 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ในประกาศของกระทรวงศึกษาธิการตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ได้แก่ จ.ระยอง ศรีสะเกษ เชียงใหม่ กาญจนบุรี สตูล และกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเป็นจังหวัดสีแดงเข้มที่มีการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิดอย่างรุนแรง

"ในขณะที่คาดการณ์ว่า ช่วงชั้นที่จะนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจจะมีเพียงช่วงชั้นที่ 1 ในชั้น ป.1 เท่านั้น เพราะชั้น ป.2-ป.3 ยังไม่เคยเรียนหลักสูตรใหม่มาก่อน จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องไปเผชิญกับโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่? เพราะเหตุใด น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จึงยังไม่สั่งการให้เลื่อนการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 จะคลี่คลาย"

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีความสับสนไม่ชัดเจน กรณีที่นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ประกาศแผนการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะว่า จะใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

"แต่ตามหลักการใช้หลักสูตรใหม่ในแต่ละช่วงชั้นในแต่ละโรงเรียน จะต้องทยอยใช้ตามระยะเวลา 3 ปีการศึกษา คือ ปีแรกใช้กับ ป.1, ป.4, ม.1, ม.4 ปีที่สองใช้กับชั้น ป.1-2, ป.4-5, ม.1-2, ม.4-5 และปีที่สามครบทุกช่วงชั้น ป.1-3, ป.4-6, ม.1-3, ม.4-6"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)