'ตรีนุช'ส่อชะลอหลักสูตรสมรรถนะ แจงไม่อยากเพิ่มภาระครูช่วงโควิด-19 ระบาด

 

 

'ตรีนุช'ส่อชะลอทดลองหลักสูตรสมรรถนะ

ไม่อยากเพิ่มภาระครูช่วงโควิด-19 ยังระบาด 

แจงข้อเรียกร้องกลุ่ม'นักเรียนเลว' ออนไลน์-ลดภาระงาน'ครู-น.ร.'

ความคืบหน้าจากกรณีเพจเฟซบุ๊ก "นักเรียนเลว" ได้ชักชวนเพื่อนนักเรียนร่วมกัน "หยุดเรียนออนไลน์" เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยเริ่มวันที่ 6-10 กันยายน 2564 เพื่อเรียกร้องรัฐบาลนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาฉีดให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องสั่งปรับลดตัวชี้วัด ลดชั่วโมงเรียน และลดภาระงานครูและนักเรียนให้ชัดเจน

นอกจากนี้ "กลุ่มนักเรียนเลว" ยังได้จัดกิจกรรมบนทางเดินสกายวอล์กแยกอโศกมนตรี กทม. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยโชว์แผ่นป้ายขนาดใหญ่เขียนข้อความ “เด็ก 1.8 ล้านคน กำลังหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ไม่เห็นหัวเด็ก” นั้น

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า ตนเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่ม และขอชี้แจงว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19  ทำให้ ศธ.ต้องออกคำสั่งปรับรูปแบบการศึกษา เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โดยตนมีนโยบายและมอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัด จัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และให้โรงเรียนพิจารณาเลือกรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ 1.On-site เรียนที่โรงเรียน 2.On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV 3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ 4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน หรือเรียนในรูปแบบผสมผสาน

"เราทราบดีว่า การเรียนออนไลน์ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีเท่ากับการเรียนที่โรงเรียน ซึ่ง ศธ.และรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดย ศธ.ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้นักเรียนทุกคน แต่กลุ่มนักเรียนถือเป็นกลุ่มที่มีความละเอียดอ่อน และต้องมีความระมัดระวัง ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจาก สธ.ว่า วัคซีนตัวไหนที่มีความเหมาะสม เช่น วัคซีน Pfizer ที่จะมีการฉีดให้แก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสนับสนุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับนักเรียน ปรับการเรียน การสอบ เพื่อลดความกังวลของนักเรียน เป็นต้น” รมว.ศธ.กล่าว

ส่วนกรณีความคืบหน้าเรื่องการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณต้นเดือนกันยายน 2564 นี้ ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ และที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโรคติดต่อโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ในกลุ่มสถานศึกษาที่ต้องนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูลนั้น

น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าการดำเนินการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่ตนจะหารือกับคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฐานสมรรถนะ) อีกครั้งว่า เมื่อมีเสียงคัดค้านถึงความพร้อม เราควรจะเลื่อนการนำร่องใช้หลักสูตรนี้ไปก่อนหรือไม่

เพราะโดยหลักการที่ตนเคยมอบไว้ก็คือ โรงเรียนที่จะเข้าร่วมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ เนื่องจากทราบดีว่าในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ ตนก็ไม่อยากไปเพิ่มภาระให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า มีโรงเรียนที่สมัครใจจะเข้าร่วมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจำนวนกี่โรงเรียน แต่เท่าที่ทราบตั้งแต่ช่วงต้นก่อนหน้านี้มีกว่า 100 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

"แต่ทั้งนี้ ดิฉันได้เน้นย้ำตลอดว่า การนำร่องทดลองใช้หลักสูตรจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และห้ามไปบังคับโรงเรียนเด็ดขาด เพราะเข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งดิฉันไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับครู” รมว.ตรีนุช กล่าว

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)