“ตรีนุช”นำนโยบายหลักสู่การพัฒนาสถานศึกษาเป็นเลิศ ปลื้ม“สกลนครโมเดล”


นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสกลนครโมเดล ณ วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์บ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการอาชีวศึกษา และเยี่ยมชมห้องเรียนนวัตกรรม ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานของนักศึกษา พร้อมทั้งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดสกลนคร จำนวน 18 โรงพยาบาล  

นางสาวตรีนุช เทียนทองกล่าวในการเป็นประธานครั้งนี้ว่า  การที่วิทยาลัยเทคนิคสกลนครได้มีการพัฒนารูปแบบการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ สกลนครโมเดล “Sakonnakhon Model” เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสู่มาตรฐานสากล และพัฒนาผู้เรียนให้เป็นกำลังคนอาชีวศึกษาคุณภาพสูงตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน มีทักษะด้านวิชาชีพ ทักษะด้านการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทักษะดิจิทัลเทคโนโลยี ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นและมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพในยุคปัจจุบัน  โดยการขับเคลื่อนภายใต้นโยบายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ในรูปแบบ "TRUST" T Transparency ความโปร่งใส R Responsibility ความรับผิดชอบ U Unity  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน S Student-Centricity ผู้เรียน T Technology เทคโนโลยี  ในรูปแบบ 5 Modern 5 Skill  5 Standard

 5 Modern คือ 1.หลักสูตรทันสมัย 2.ห้องเรียนทันสมัย 3.สื่อ/เครื่องมือและครุภัณฑ์ทันสมัย 4.เทคโนโลยีทันสมัย และ 5.เครือข่ายความร่วมมือทันสมัย จากนโยบายที่ 1 การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นโยบายที่ 6 การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง นโยบายที่ 10 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา และนโยบายที่ 11 การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา

5 Skill คือ 1.ทักษะวิชาชีพ/อาชีพ 2.ทักษะการสื่อสาร 3.ทักษะดิจิทัล/เทคโนโลยี 4.ทักษะความคิดสร้างสรรค์ 5.ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมาจากนโยบายที่ 3 ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) นโยบายที่ 5 จัดทดสอบวัดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อ และนโยบายที่ 9 การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

5 Standard คือ 1.มาตรฐานแรงงาน 2.มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ 3.มาตรฐานอาชีวศึกษา 4.มาตรฐานอาเซียน และ 5.มาตรฐานสากล มาจากนโยบายที่ 7 การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NOF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) และนโยบายที่ 9 การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

"วิทยาลัยเทคนิคสกลนครนั้นได้นำเอามาตรฐานในระดับต่าง ๆ มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษา เช่น มาตรฐานฝีมือแรงงาน มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานการอาชีวศึกษา มาตรฐานสากล เพียสัน B-TEC ประเทศอังกฤษ และกำลังเตรียมความรับการประเมินและรับรองคุณภาพสถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาระดับภาคพื้นเอเชียแปชิฟิก (APACC) ในปีการศึกษา 2565-2567 อีกด้วย นับเป็นความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นสู่ระดับสากลอย่างแท้จริง โดยแนวทางดังกล่าวนี้ สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนและพัฒนามาตรฐานการศึกษาให้สูงขึ้น และควรแก่การนำไปเผยแพร่ขยายผลสู่สถานศึกษาอื่นและนำไปปรับประยุกต์ใช้ต่อไป" นางสาวตรีนุช เทียนทองกล่าว

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมในความเสียสละและการทำความดีเพื่อส่วนรวมของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน นักศึกษา ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ระดมสรรพกำลังต่าง ๆ โดยความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการช่วยเหลือสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ โดยการจัดตั้งศูนย์ซ่อม สร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้านภัย COVID-19 ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วยที่ชำรุด และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีในการสนับสนุนการให้บริการทางสาธารณสุขของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ รถยนต์ไฟฟ้าขนย้ายผู้ป่วย เตียงผู้ป่วยอัตโนมัติ ห้องควบคุมความดันลบ  และขอบคุณบุคลากร และหน่วยงาน รวมถึงท่านผู้มีจิตศรัทธา และผู้เกี่ยวข้อง ที่ให้ความร่วมมือ สนับสนุนทุนทรัพย์และสิ่งของต่าง ๆ สำหรับการดำเนินโครงการนี้

ด้านดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) กล่าวถึง "สกลนครโมเดล" ว่า สาขาที่โดดเด่นในการดำเนินงานคือสาขาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ที่ได้นำอุปกรณ์และเครื่องมือของทางโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพื่อประดิษฐ์นักเรียนนักศึกษาสาขาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ และได้รับการตอบรับอย่างดีและยังเป็นสาขาที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันอุปกรณ์ทางการแพทย์มีราคาแพงพอชำรุดเสียหายต้องสั่งซื้อใหม่ ดังนั้นการที่จะต้องซ่อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ต้องเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ของวงการแพทย์ได้ดี ซึ่งวิทยาลัยฯ ทำมาเป็นปีที่ 2 ส่วนในเรื่องหลักสูตรมองว่าตอบโจทย์ในเรื่องความจำเป็น โดยเฉพาะในตลาดแรงงานยังต้องการมาก ซึ่งจะขยายผล สาขาอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และต้องเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมและเครือข่ายเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลศูนย์ ส่วนอีกสาขาที่ยังต้องการดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ในยุคปัจจุบันคือสาขาการดูแลผู้สูงอายุ ในสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันกำลังคืบคลานเข้ามา ซึ่งสาขาการดูแลผู้สูงอายุ ที่แรกคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ และตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องกรอบของหลักสูตรและตลาดความต้องการหากตอบโจทย์ก็จะขยายหลักสูตรไปทั่วภูมิภาคเช่นเดียวกัน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)