หึ่ง!คิกออฟฉีดไฟเซอร์ น.ร. 15 จว. เด็กพื้นที่แดงเข้มอดประเดิมสร้างภูมิโควิด

 


เมื่อเวลา 06.40 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กทม. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพื่อสร้างภูมิป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี โดยได้มีการสอบถามและให้กำลังใจแก่นักเรียน และผู้ปกครอง

ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กทม. มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี จำนวน 799 คน และมีนักเรียนที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีน จำนวน 695 คน โดยในวันนี้จะมีนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 200 คน 

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า วันนี้จะดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษาใน 15 จังหวัด ในพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นผู้จัดสรรโซนการฉีดวัคซีนโดยตรง

"โดยภาพรวมมีผู้ปกครองและนักเรียนแจ้งความประสงค์ยินยอมรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีเกือบ 80% แล้ว ซึ่งในส่วนของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้น ศธ.จะประสานกับ สธ.เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนรอบเก็บตกให้กับนักเรียนต่อไป หากนักเรียนได้รับวัคซีนครบทั้งหมดก็จะเปิดเทอม 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้แน่นอน เพียงแต่จะเปิดเรียนรูปแบบใดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด" รมว.ตรีนุช กล่าว

จากนั้นเวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี Kick-off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจต้อนรับเปิดเทอม โดยการฉีดวัคซีนนักเรียน นักศึกษาเข็มแรกพร้อมกันในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ใน 15 จังหวัด ในพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องรักษาระบบนี้ให้ได้ วันนี้มั่นใจที่มีการบริหารจัดการการศึกษาและส่งเสริมจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูมีบทบาทอย่างมากในการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่องทาง

"วัคซีนที่ฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปนี้ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ถ้าเราฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในนักเรียน ครู และบุคลากรทางศึกษาก็จะทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ยืนยันปีนี้วัคซีนมีเพียงพอทั้งปีไปจนถึงปีหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมี 150-170 ล้านโดสในปีนี้ ฉีดได้ครบถ้วนตามที่ตั้งเป้าไว้ และขณะที่การควบคุมการแพร่ระบาดก็ทำได้ตามแผนที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า กิจกรรม Kick-off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจต้อนรับเปิดเทอม โดยการฉีดวัคซีนนักเรียน นักศึกษาเข็มแรกพร้อมกันใน 15 จังหวัด ในพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 นี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและนักเรียนในหลายจังหวัด ถามหาความเหมาะสมและชอบธรรม

เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สีแดงเข้ม ซึ่ง ศธ.เคยประกาศไว้ชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า จะจัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียน นักศึกษาอายุ 12-18 ปี ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด วันแรก 4 ตุลาคม 2564

แต่ตามข้อเท็จจริงนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้มในหลายจังหวัด ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อาทิ นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ จ.นนทบุรี มีการประกาศจากบางโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนแล้วว่า ให้ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกที่เมืองทองธานี ช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคม 2564 นี้  

ในขณะที่มีนักเรียน นักศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด กลับได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกในวันเดียวกันนี้ด้วย และยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่กิจกรรม "Kick-off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจต้อนรับเปิดเทอม" ด้วย เช่น นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

ด้าน นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สีแดงเข้ม) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า ตามหลักการและเหตุผลตนเห็นว่า ควรฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพื่อสร้างภูมิป้องกันโรคให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน เพราะถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

และปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง เพื่อความปลอดภัยของคนในพื้นที่ รวมทั้งเพื่อบรรเทาปัญหาทางการศึกษาให้ลดลงมาบ้าง

เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม มีผู้ปกครองจำนวนมากเริ่มทำใจกันแล้วว่า ในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 บุตรหลานน่าจะยังไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบคุณภาพการศึกษาลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ดังนั้น ผมขอร้องผู้มีอำนาจในรัฐบาล ในกระทรวงศึกษาธิการ และในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่า ขออย่าเอาเงื่อนไขและประโยชน์อื่นใดมาทำลายคุณภาพการศึกษาอีกเลย" ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

อนึ่ง วันเดียวกันนี้ (4 ตุลาคม 2564) นักเรียน นักศึกษาอายุ 12-18 ปี ของสถานศึกษาในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ตื่นตัวมาเข้าคิวรอรับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อสร้างภูมิป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ในวันแรกคึกคัก

โดยการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ณ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เป็นจุดที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม "คิกออฟ สร้างเกราะป้องกันในวัคซีน" เริ่มต้นฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19 ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุ 12-18 ปี ทั่วประเทศ 

ซึ่งนักเรียน นักศึกษาทุกคนที่มารับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19 จะต้องนำเอกสารแบบคัดกรองก่อนรับบริการฉีดวัคซีนที่เซ็นรับรองจากผู้ปกครองมายื่นให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย 

ทั้งนี้ ดร.กฤษ ละมูลมอญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึก (ผอ.สพม.) บุรีรัมย์ เดินทางไปให้กำลังใจนักเรียนโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ระดับชั้นมัธยมปีที่ 4-6 จำนวน 1,372 คน ที่กำลังเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19 ณ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยมีบรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า 

และจากการสอบถามนักเรียนโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่มารอรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ป้องกันโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของผลข้างเคียงแต่อย่างใด

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)