"กก.ปฏิรูป ปท.ด้านการศึกษา" เน้น ศธ.ต้องฟังรอบด้าน ไม่รีบประกาศหลักสูตรใหม่

"กก.ปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา" เน้น ศธ.ต้องรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่เร่งรีบจัดทำและประกาศใช้หลักสูตร จนขาดความรอบคอบและละเลยหลักการสำคัญ

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวมีกลุ่มบุคคลพยายามผลักดัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้รีบลงนามประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มทดลองใช้ในสถานศึกษาว่า ไม่ทราบว่ามีกลุ่มคนไปผลักดันท่านรัฐมนตรี และไม่ทราบว่าเหตุใดกลุ่มคนเหล่านั้นจึงเร่งรีบให้มีการประกาศใช้หลักสูตร แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครไปผลักดันท่านรัฐมนตรีได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจะมีผลกระทบกับประเทศและคนจำนวนมากตามมาภายหลังอีกมากมาย

จึงเชื่อว่าท่านรัฐมนตรี รวมทั้งผู้บริหาร ศธ.จะใช้ความระมัดระวังและรอบคอบอย่างมาก เพราะเป็นการพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ ไม่ใช่หลักสูตรระดับท้องถิ่นและระดับชั้นเรียน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มงวด รอบคอบ จึงจะทำให้หลักสูตรที่ยกร่างใหม่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์ของประเทศ ไม่เป็นภาระของคนรุ่นหลังต้องมาปรับปรุงแก้ไขอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมาก จึงน่าที่ ศธ.และผู้เกี่ยวข้องต้องกลับมาศึกษา ทบทวนนโยบายของรัฐบาล และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘) ให้ดี

ซึ่งทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศนั้น เน้นไปที่การจัดการเรียนการสอน(หลักสูตรระดับชั้นเรียน) มากกว่าที่จะพัฒนาหลักสูตร(ระดับชาติ) รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านการศึกษา ได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า ในการดำเนินการด้านการศึกษาของประเทศ มีนโยบายทางการศึกษาที่สำคัญเร่งด่วนไว้ 3 ประการคือ

๑.ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ระดับห้องเรียน เน้นการเรียนรู้การคิดขั้นสูงเชิงระบบ (Active learning)

๒.ยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นตามบริบทท้องถิ่น

๓.สร้างความมีเอกภาพด้านนโยบายของการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ และสนับสนุนความหลากหลายในการปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงระดับพื้นที่ โรงเรียน และห้องเรียน ให้ผู้เรียนมีโอกาสรับการศึกษาที่สอดคล้องกับความถนัด และตามความสามารถของตนเอง สามารถเรียนรู้ควบคู่การทำงาน ผลิตผลงาน พึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องในแต่ละช่วงวัยตลอดชีวิต

ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ระบุไว้ว่า เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ผู้เรียนใฝ่เรียนรู้ มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ เป็นพลเมืองตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)

มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ คือ 1) พัฒนาผู้เรียน 2) พัฒนาครู/อาจารย์ 3) พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้ 5 ประการ

อันรวมถึงการนำหลักสูตรระดับชาติที่ใช้ในปัจจุบัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551) ไปจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาและหลักสูตรชั้นเรียน ที่ตอบสนองต่อความสนใจและความถนัดของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งแต่ละสถานศึกษาและครูแต่ละคนจะต้องไปจัดทำหลักสูตรเอาเอง

อย่างไรก็ดี ตามที่ทราบกันว่ากระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรที่ใช้ปัจจุบัน (หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551) ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น

จะใช้ชื่ออะไรไม่สำคัญ เพราะหลักสูตรทุกหลักสูตรมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ) ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน ก็เป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะเช่นเดียวกัน ทั้งยังได้เน้นสมรรถนะตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (specific competency) และสมรรถนะหลัก(สำคัญ)(core competency) อีก 5 ประการด้วย คือการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และเทคโนโลยี

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กล่าวต่อว่า ดังนั้น หากมีใครกล่าวว่าหลักสูตรที่ใช้ปัจจุบันเป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (subject matter) ไม่เน้นสมรรถนะ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

"ปัญหาที่แท้จริงที่เป็นอยู่ก็คือ ความไม่เข้าใจเรื่องหลักสูตร และการไม่สามารถนำหลักสูตรไปจัดประสบการณ์ในสถานศึกษาและในชั้นเรียนได้ มีผลให้นักเรียนคุณภาพตกต่ำ จึงควรหันไปปรับปรุงพัฒนาครูและผู้บริหารในการนำหลักสูตรไปใช้ มากกว่าจะมาแก้ไขที่ตัวหลักสูตร"

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงหลักสูตรสามารถทำได้ แต่ควรมีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย กำหนดหลักการและเหตุผล และมีข้อมูลรองรับมากเพียงพอในการปรับปรุงหลักสูตร

ตามหลักการแล้วในการพัฒนาหลักสูตรทุกระดับ จะต้องมีผลการประเมินการใช้หลักสูตรปัจจุบันนี้เสียก่อนว่า เป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร จึงสมควรต้องมีการปรับปรุง ต้องมีการศึกษา วิจัย ประเมินมาแล้วอย่างดี และผู้ปรับปรุงหลักสูตรได้นำผลการศึกษา ประเมินดังกล่าว ตลอดแนวคิด ทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของประเทศ มาเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงหลักสูตร

ต้องตอบได้ว่า หลักสูตรใหม่ที่ปรับปรุงนั้นได้ตอบปัญหาข้อบกพร่องของหลักสูตรเดิมอย่างไร ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่และประเทศอย่างไร โดยทั่วไปแล้วต้องเทียบประเด็นเก่ากับประเด็นที่แก้ไขปรับปรุงให้เห็นชัดเจน ยิ่งเป็นหลักสูตรระดับชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม

ในการปรับปรุงหลักสูตร จึงควรรักษาไว้ซึ่งหลักการที่ดีของหลักสูตรเดิมไว้ ตัดสาระที่ล้าสมัย รกรุงรัง และสิ่งที่มากมายจนเกินความจำเป็นออกไป เพิ่มเติมความรู้ ทักษะและคุณลักษณะสมัยใหม่ และนำไปบูรณาการกับหลักสูตรปัจจุบันได้อย่างกลมกลืนเหมาะสม จัดหมวดหมู่การเขียนตามองค์ประกอบของหลักสูตรให้เหมาะสม ปรับปรุงถ้อยคำภาษาหัวข้อต่างๆ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับเนื้อหาข้างใน

ตัวอย่างเช่น ในหน้า 10 ของหลักสูตรที่ใช้ปัจจุบัน ได้เขียนสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ) (specific competency) ตามสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มไว้แล้ว ควรปรับหัวข้อว่า ”สาระการเรียนรู้” แก้เป็นสมรรถนะราย(สาระ)วิชา (Specific Competency) ให้ถูกต้องสัมพันธ์กัน ตลอดจนคุณภาพผู้เรียนที่จบแต่ละช่วงชั้นนั้น ได้กำหนดระดับความรู้และคุณลักษณะไว้แล้ว ควรเพิ่มเติมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะที่ขาดหายไป เป็นสมรรถนะใหม่ที่ต้องการเพิ่มเติมเข้ามา เป็นต้น

จะทำให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สถานศึกษานำไปประยุกต์ใช้ตามแต่ละบริบทพื้นที่ ซึ่งอาจตัดบางเนื้อหาและตัวชี้วัดที่เกินความจำเป็นออกไปเอาเอง

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กล่าวว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะที่กำลังทำอยู่ ต้องสร้างความมั่นใจ มีข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้ ต้องสามารถตอบคำถามและข้อสงสัยให้กระจ่าง ขจัดการถกเถียง ความกังวล และข้อสงสัยของสังคม ก่อนนำไปทดลองใช้ เช่น

-เหตุใดหลักสูตรที่ร่างขึ้นใหม่นี้ จึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยและเร็วมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนสาระ ตั้งแต่เริ่มแรกกำหนดมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะมี 10 สมรรถนะ ต่อมาปรับเหลือ 5 สมรรถนะ แล้วต่อมาเพิ่มเป็น 6 สมรรถนะ จนปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 7 สาระการเรียนรู้กับอีก 1 กิจกรรม

ล่าสุดทราบมาว่า จะปรับเป็น 8 สาระการเรียนรู้ตามเดิมอีกแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เหตุผลของการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ได้มีการศึกษา รวบรวมข้อมูลมาแล้วเป็นอย่างดี รองรับหรือไม่

-หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการจัดทำกันอยู่ในเวลานี้ ได้ตัดวิชาสังคมศึกษาและวิชาการงานพื้นฐานอาชีพออกไป ซึ่งล้วนมีความสำคัญมาก เหตุใดจึงตัดวิชานี้ออกไป มีการนำไปสอดแทรกที่ใดที่หนึ่ง หรือไม่มีก็ได้ จะเป็นการลดทอนคุณค่าวิชาเหล่านั้นหรือไม่

-หลักสูตรปัจจุบันที่ใช้อยู่ได้กำหนดสมรรถนะด้านการคิดไว้แล้ว แต่หลักสูตรที่ร่างใหม่กำหนดเป็นสมรรถนะความคิดขั้นสูง แตกต่างกันหรือดีกว่าอย่างไร เพราะความคิดมี 3 ระดับ คือระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง มีคำถามว่าเด็กเล็กต้องสอนให้เกิดความคิดระดับสูงนั้น เป็นอย่างไร

-ในสมรรถนะที่ 6 ตามหลักสูตรที่ร่างใหม่กำหนดว่า “การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน” หมายความว่าอย่างไร เนื้อหาเป็นอย่างไร สมรรถนะที่เกิดรวมทั้งตัวชี้วัดเป็นอย่างไร กระบวนการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินเป็นอย่างไร

-รวมทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญ 8 ประการที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อันเป็นหลักการที่จะสร้างอัตลักษณ์ของคนในชาติ ก็ไม่ปรากฏชัดเจน ไม่ครบถ้วนในหลักสูตรที่ยกร่างใหม่ ไม่รู้ว่าไปซ่อนอยู่ที่ใดหรือไม่

-โดยสรุปคือ หลักสูตรยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่นิ่งเลย สังคมไม่มั่นใจ ทั้งนี้ ยังไม่รวมเนื้อหาสาระว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่มีการเผยแพร่และประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีข้อคำถามมากมายที่ต้องการความชัดเจน

ดังนั้น ศธ.ต้องตอบให้สังคมกระจ่างและมั่นใจให้ได้ว่า การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้จะทำให้ได้หลักสูตรใหม่ (ฐานสมรรถนะ) ที่ดีกว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไร???

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กล่าวแสดงความเห็นด้วยว่า เมื่อมีข้อสงสัยและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากมายแบบนี้ ศธ.จึงควรคลี่คลายความกังขาและความกังวลใจของสังคม

โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สังคมให้การยอมรับจากหลายภาคส่วน เช่น นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ ตลอดจนผู้ปกครองที่เป็นมืออาชีพ มากลั่นกรองและตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร และทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากสังคมทุกส่วนอย่างจริงใจและจริงจัง จนได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับกันแล้ว จึงนำไปทดลองใช้ในกลุ่มโรงเรียนนำร่อง

ซึ่งก็จะต้องมีการประเมินทุกมิติ ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะของผู้เกี่ยวข้อง เพราะถ้าทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งครู ผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ ยังมีสีหน้างงๆ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจชัดเจน ก็ควรยุติหรือชะลอการประกาศใช้หลักสูตรไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะสร้างความปั่นป่วนเสียหายให้กับวงการศึกษาของชาติเป็นอย่างมาก รวมถึงภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของ ศธ.และบุคคลที่เกี่ยวข้องก็จะถูกทำลายลงด้วย

แต่เมื่อได้มีการดำเนินการครบถ้วนตามหลักการพัฒนาหลักสูตรจนมั่นใจได้แล้ว ทุกฝ่ายยอมรับ ก็สามารถเดินหน้าต่อไป สังคมก็จะหันมาชื่นชมยกย่อง ศธ. กัน

ทั้งนี้ มี 5 คำถามหลักที่ทุกคนทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ยกร่างหลักสูตร ผู้นำหลักสูตรไปใช้และผู้ประเมินหลักสูตร ตลอดจนผู้กลั่นกรองหลักสูตรจะต้องเข้าใจชัดเจน สามารถอธิบายและตอบคำถามได้ตรงกัน คือ

1)  หลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร แตกต่างหรือดีกว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร

2) หลักการและเป้าหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร สนองตอบต่อนโยบายของประเทศอะไรบ้าง และอย่างไร

3) สมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะวิชาของหลักสูตร (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่พึงประสงค์) ของหลักสูตรฐานสมรรถนะคืออะไร มีอะไรบ้าง และเป็นอย่างไร ทั้งระดับช่วงชั้นและระดับหลักสูตร

4)  ผู้บริหารและครูจะนำหลักสูตรไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนและในชั้นเรียนได้อย่างไร จึงจะเกิดสมรรถนะหลักและสมรรถนะเฉพาะวิชาตามเป้าหมายที่กำหนด ไปจนถึงระดับหลักการของหลักสูตร

5) ท่านมีความรู้ ความเข้าใจชัดเจนพอที่จะไปแนะนำหรือวางแผนและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนในสถานศึกษาและในชั้นเรียนให้มีสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ) ได้อย่างมั่นใจมากน้อยเพียงใด 

ดังนั้น ก่อนที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะลงนามประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) อันเป็นหลักสูตรระดับชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก มีผลกระทบต่อนักเรียน ครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์จำนวนมาก จึงเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะคำนึงและดำเนินการตามที่ดิฉันกล่าวมาทั้งหมด ไม่ควรเร่งรีบจนละเลยหลักการสำคัญ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพ

"ผู้กำกับนโยบาย ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะครู อาจารย์ และผู้บริหาร มีความรู้และเข้าใจชัดเจนตรงกัน ไม่ยุ่งยากสับสนในการนำไปปฏิบัติ ไม่เกิดความสูญเปล่า สิ้นเปลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สร้างความเสียหายที่จะตกอยู่กับเด็กและเยาวชนไทย และประเทศไทย กลายเป็นวังวนฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศ จึงขอฝากความหวังและความเชื่อมั่นไปยังท่านรัฐมนตรีตรีนุช" รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กล่าวย้ำ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)