แซด!หลักสูตรสมรรถนะ ศธ.ตามก้น‘ฝรั่งเศส’ ใช้อดีต 2 นักการเมืองใน รบ.ทักษิณ

 

แซด!หลักสูตรสมรรถนะ ศธ.ที่แท้ตามก้น 'ฝรั่งเศส'

ใช้บริการอดีต 2 นักการเมืองในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

แฉยังขาดความชัดเจนทุกช่วงชั้น-ฝืนทดลองแค่ ป.1-3 ?

ชมรม ผอ.สพท.เตือน'ตรีนุช'จิ้งจกทัก วิกฤตโควิดพาซวย

ความคืบหน้าจากกรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ประกาศเรื่อง ศธ.ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ เป็นต้น

เพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

โดยวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึงเรื่องดังกล่าวว่า สาเหตุที่ ศธ.จำเป็นต้องเร่ดรัดการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ โดยจะจัดให้นำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นั้น อาจเป็นเพราะเรื่องนี้จัดอยู่ 1 ใน 7 นโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

แต่ต้องยอมรับว่า จนถึงขณะที่การศึกษาวิจัยการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้เกี่ยวข้องว่า ยังไม่ตกผลึก ที่สำคัญครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับรู้รายละเอียดเค้าโครงหลักสูตร ตลอดจนแนวทางการจัดการเรียนการสอนแต่อย่างใด

เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเคยมีการศึกษามานานแล้วในหลายช่วงเวลา โดยก่อนหน้านี้ในช่วงสมัยของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และได้สั่งยุติไปก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่ง เพราะนายณัฏฐพลได้ติดตามรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ และได้ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

หลังจากนั้นเข้าสู่สมัย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 และได้ประกาศเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็น 1 ใน 7 นโยบายเร่งด่วน (Quick Win) รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา 

โดยมีผู้มีบทบาทสำคัญ 2 คน เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน ศธ.สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในผู้มีบทบาทสูงดังกล่าวไม่เคยเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานมาก่อนแต่อย่างใด

แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อว่า สาระหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ออกมาให้ข่าวว่า มีเช่น ช่วงชั้นที่ 1 ป.1-ป.3 ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ และเพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน เป็น 6 ด้านนั้น ว่ากันว่าเท่าที่มีความชัดเจนตอนนี้คือเท่านี้จริงๆ กับเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ทิศทางการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในครั้งนี้ ได้ใช้แนวทางจากระบบการศึกษาของประเทศฝรั่งเศส

ส่วนว่าในรายละเอียดหลักสูตรช่วงชั้นที่ 1 ประถมศึกษาตอนต้น จะเรียน 7 สาระการเรียนรู้ วิชาอะไรบ้าง จะลดเวลาเรียนอะไรลงบ้างจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง ว่ากันว่ายังไม่มีความชัดเจน รวมไปถึงเค้าโครงหลักสูตรในระดับช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย, มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ว่ากันว่ายังเร่งประชุมหาความชัดเจนกันอยู่เลย

ซึ่งสอดรับกับการให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ มีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็กที่สูงเกินไปหรือไม่ ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่”

แหล่งข่าวระดับบริหารใน สพฐ.คนเดิม กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้ว หลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดเรื่องสมรรถนะของผู้เรียนไว้อยู่แล้ว 5 ด้าน ทั้งการจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง อีกทั้งยังมีการปรับปรุงมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดสมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็เพิ่งปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 อิงมาตรฐาน โดยนำรูปแบบมาจากประเทศอังกฤษ มาปรับใช้

"จะว่าไปแล้ว ไม่มีความเหมาะสมเลยกับการไปนำเอารูปแบบการศึกษาจากประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว มาใช้กับเยาวชนไทยทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยขาดการนำมาบูรณาการก่อน จนประสบความล้มเหลว สูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมากไปแบบตําน้ำพริกละลายแม่น้ำ อย่างที่ผ่านๆ มา"

ทั้งที่ล่าสุดตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่รู้ สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย”

ด้วยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ไม่ใช่มาสร้างหลักสูตรใหม่อยู่เรื่อยๆ

แหล่งข่าวระดับบริหารใน สพฐ.คนเดิม กล่าวต่อว่า ที่สำคัญมีการคาดการณ์กันว่า ศธ.อาจจะให้โรงเรียน 200 กว่าแห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในวันที่ 1 กันยายน 2564 ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงกับการได้ไม่คุ้มเสีย ท่ามกลางวิกฤตประเทศ จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19

โดยเฉพาะในจังหวัดสีแดงเข้ม 29 จังหวัด ที่อยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เช่น จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา หากมีการให้ทดลองใช้จะมีความสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 หรือไม่ แม้ว่าจะมีความพยายามเสนอใช้มาตราการ Sandbox ในโรงเรียนนำร่องก็ตาม โดยมีการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และมีการคัดกรองโดยใช้วิธี Rapid Antigen test แต่อย่าลืมว่า จ.ภูเก็ตที่นำร่องใช้มาตรการ Sandbox ยังเคยเกิดปัญหาการติดเชื้อโควิด-19

ในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์กันด้วยว่า ศธ.อาจจะให้มีการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเพียงเฉพาะในช่วงชั้นที่ 1 หรือประถมศึกษาตอนต้น เท่านั้นหรือไม่? เนื่องจากร่างหลักสูตรในช่วงชั้นนี้พอที่จะมีความชัดเจน โดยทดลองใช้ไปพร้อมๆ กับการทำวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตร ซึ่งถือว่าผิดหลักการ ที่ต้องทดลองใช้หลักสูตรตลอดแนวทุกช่วงชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเชื่อมโยงเป็นระนาบเดียวกัน

"ทั้งนี้ เบื้องต้นทราบมาว่ามีโรงเรียนที่อยู่ในข่ายต้องนำร่อง ได้ขอปฏิเสธที่จะร่วมทำวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้วย เนื่องจากเห็นว่าครูและบุคลากรในโรงเรียนจะมีภาระมากเกินไป" แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว

ธนชน มุทาพร

ด้าน นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย , เลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวว่า ตนเคยได้ยินเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะว่า มีความพยายามดำเนินการโดยกลุ่มคณะบุคคลมานานหลายปีแล้ว ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สพท.)

แต่ก็ไม่เคยเห็นเค้าโครงหน้าตาหลักสูตรฐานสมรรถนะว่าเป็นอย่างไร และทราบมาว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังไม่เคยเห็น และเรื่องนี้ก็เงียบหายไป จนมีการพูดถึงเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะอีกครั้งในช่วงที่มีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตร

ดังนั้น ตนขอเสนอไปยัง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้ชะลอเรื่องการทดลองหรือการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ออกไปก่อน จนกว่าประเทศจะพ้นวิกฤตจากโรคติดต่อโควิด-19 หรืออาจจะรอให้สถาบันพัฒนาหลักสูตร ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ มาดำเนินการต่อก็ได้

“เมื่อหลายฝ่ายทักท้วงกันขนาดนี้แล้ว เปรียบเหมือนจิ้งจกทัก แม้จะเป็นเรื่อง 1 ใน 7 นโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ก็ควรต้องรับฟัง เพราะอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย หากเกิดมีนักเรียน ครู และผู้ปกครองติดโควิด-19 ขึ้นมา น.ส.ตรีนุชเองที่จะซวย”

นายธนชนกล่าวด้วยว่า ตนจะนำปัญหาเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย , สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร จะมีท่าทีทักท้วงกันอย่างไรหรือไม่

"เพื่อไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงการติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครองในโรงเรียนที่ ศธ.จะนำร่องหลักสูตร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายข้อแรกของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ระบุว่า นโยบายเร่งด่วน (Quick Win) 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน"

ประธานชมรม ผอ.สพท.แห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า การสอนหลักสูตรไหนก็ตาม สุดท้ายผู้เรียนจะเกิดสมรรถนะได้เอง พวกเราก็ผ่านหลักสูตรโบราณมาแล้ว ก็ยังคิดเป็น แก้ปัญหาเป็นครับ การแก้หลักสูตรแต่ละทีจำเป็นต้องอบรมหรือสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องกันนาน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หลงทิศหลงทางไปก็มี

"สมรรถนะในยุค new normal ก็เยอะแยะไปหมด ครูมัวแต่อบรม สุดท้ายก็ไม่ได้สอนเด็กสักที ทั้งนี้ ควรไปเน้นที่สถาบันผลิตครูจะดีกว่า ถ้ากระบวนการผลิตได้ครูดี ครูเก่ง เด็กก็จะมีสมรรถนะเอง” นายธนชน กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)