องค์กรประถม-มัธยมฯโอด‘ศธ.-สพฐ.’ให้แนวทางเปิดเทอม 2 แต่ปล่อย ร.ร.ผจญปัญหา

 

นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com กรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ว่า ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาหน่วยงาน ศธ.ในส่วนกลางกำหนดแต่เพียงแนวทางกว้างๆ ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ในภาพรวมทั้งประเทศได้ปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้ตามมาส่งเสริม สนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่

ทั้ง ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดแนวทางเป็นเพียงกรอบกว้างๆ สำหรับโรงเรียนที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบ Onsite จะต้องประเมินตนเองผ่านในระบบ Thai Stop Covid Plus ทั้ง ๔๔ ข้อ หรือก่อนเปิดโรงเรียน ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาทุกคน จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ในระดับพื้นที่ ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ก็โยนความรับผิดชอบให้กับแต่ละสถานศึกษาไปตัดสินใจกันเองว่า จะเปิดภาคเรียนที่ 2 ในรูปแบบใด

ทั้งที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า โรงเรียนจะสามารถใช้งบประมาณใดจัดซื้อชุดตรวจ ATK เช่นที่โรงเรียนที่ตนสอนอยู่ในพื้นที่ อ.กงหรา จ.พัทลุง เป็นโรงเรียนประถมศึกษา มีนักเรียน 95 คน มีงบประมาณปัจจัยพื้นฐานพอจะจัดซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจโควิด-19 ทั้งนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ แต่เมื่อสอบถามไปยัง สพท. กลับไม่ได้รับคำตอบยืนยันว่าสามารถใช้งบฯนี้เพื่อการณ์นี้ได้หรือไม่

นายประทุม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่โรงเรียนของตนยังประสบปัญหาเรื่องคนใช้ชุดตรวจ ATK โดยครูในโรงเรียนเองบอกว่าไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ เมื่อทางโรงเรียนประสานงานไปยังโรงพยาบาลชุมชน ก็ได้รับคำตอบเชิงปฏิเสธที่จะเข้ามาดำเนินการให้ โดยบอกว่าไม่มีชุด PPE ป้องกันเชื้อไวรัส และยุ่งยากหากต้องไปจัดทำเรื่องเบิกในจังหวัด

ตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ยังไม่รวมกรณีที่ทางโรงเรียนต่างๆ จะต้องเผชิญกับการช่วยเหลือนักเรียนทางการเรียนโดยลำพัง เพื่อไม่ให้ต้องเรียนแบบ Online ทั้งเทอม 2 เหมือนภาคเรียนที่ผ่านมา เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหากับการเรียน Online หรือแทบไม่ได้เรียนเลย

เฉพาะอย่างยิ่งชั้นเด็กเล็ก ประถมศึกษาปีที่ 1-2 หลายคนยังเขียนชื่อตัวเองไม่ได้ จะต้องมาฝึกเขียนฝึกอ่านกับครู ให้ครูได้จับมือเขียนตัวอักษร

ดังนั้น ที่โรงเรียนของตนจึงประชุมตกลงกันแล้วว่า จะเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 3 รูปแบบ คือ 1.Onsite เพื่อให้เด็กๆ ระดับประถมศึกษาได้มาเรียนกับครู 2.ถ้าผู้ปกครองยังไม่มั่นใจ เพราะเด็กระดับประถมศึกษายังไม่ได้ฉีดวัคซีนสร้างภูมิป้องกันโควิด-19 ทางโรงเรียนก็จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-hand ให้ คือให้นักเรียนเรียนรู้ที่บ้าน โดยครูจัดทำเอกสารหรือใบงานให้กับนักเรียน และ 3.ใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน

ซึ่งแน่นอนว่า น่าจะไปกระทบกับการบริหารงบฯอาหารกลางวันอีก เพราะเด็กอาจมาโรงเรียนแต่ละวันไม่เท่ากัน มากบ้าง น้อยบ้าง

“ในฐานะประธานสมาพันธ์ครู ซึ่งรับทราบสภาพปัญหาจากเพื่อนครูและบุคลากรที่สะท้อนเข้ามา จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานส่วนกลางทั้งระดับ ศธ.และ สพฐ.ได้โปรดเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ส่งเสริม สนับสนุนด่านหน้าทางการศึกษา คือโรงเรียนต่างๆ ให้สามารถจัดการเรียนการสอน Onsite ให้กับนักเรียนตามบริบทของสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ เช่นประสานความร่วมมือระดับกระทรวง ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หาบุคลากรมาช่วยตรวจ ATK ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ดีกว่าจะใช้เวลาไปกับการรวบรวมข้อมูลเพื่อออกข่าวแค่ว่า วันนี้ครู วันนี้นักเรียนฉีดวัคซีนกันไปแล้วกี่คน” ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าว

ด้าน ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าแนวทางการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ของ ศธ.และ สพฐ. อาจยังขาดความชัดเจนพอสำหรับสถานศึกษาผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจที่รอบคอบและเหมาะสมของผู้บริหารโรงเรียน

เช่น ที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ตนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เรียกประชุมครู ผู้ปกครอง เพราะเห็นว่าการเรียนแบบ Online ในภาคเรียนที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นปัญหา เด็กอาจไม่ได้เรียนเต็มที่ ดังนั้น มติของที่ประชุมครูและผู้ปกครองจึงออกมาว่า ให้นักเรียนสลับมาเรียน Onsite ที่โรงเรียนตั้งแต่วันเปิดเทอม 2 เป็นเวลาอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

แต่สำหรับโรงเรียนทั่วไป โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่เด็กนักเรียนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนหลายแห่งอาจยังต้องเปิดเทอม 2 แบบการเรียนการสอน Online ต่อไป ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง จนเด็กอาจไม่ได้เรียนกันอย่างเต็มที่ อาทิ ปัญหาเรื่องอุปกรณ์การเรียน สัญญาณอินเตอร์เน็ต ฯลฯ

หรือดังเช่นที่ประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นำเสนอผลประชุมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ ที่เสนอให้ ศธ.ปรับรูปแบบการเรียนการสอนระบบออนไลน์ให้แตกต่างจากการสอนในชั้นเรียนปกติ และจัดระยะเวลาในการเรียนที่เหมาะสม

“เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทั้ง ศธ.และ สพฐ.ควรต้องเข้าไปช่วยแก้ไข ส่งเสริม และสนับสนุนในระดับสถานศึกษา เพื่อให้ครูและนักเรียนได้ทำการสอนและเรียนรู้กันได้อย่างเต็มที่อย่างแท้จริง” นายก ส.บ.ม.ท.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)