'ตรีนุช'ย้ำให้สิทธิ ร.ร.เลือกสอน 5 on ตามบริบทโควิด-19 ระบาดในพื้นที่

'ตรีนุช'ให้สิทธิ ร.ร.เลือกสอน 5 on

ยึดตามบริบทโควิด-19 ระบาดในพื้นที่

สถานศึกษา ศธ.เปิด On site 53.09%

 รมว.ศธ.ยันการปิด ร.ร.ไม่ใช่มาตรการหลัก พร้อมเปิด On-Stie ทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย กำชับผู้บริหารดูแลสถานศึกษาทุกแห่งอย่างใกล้ชิด ให้เลือกรูปแบบจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ผ่านระบบ Zoom Meeting

โดยชี้แจงถึงนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา การปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (5 on) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ และการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอนแบบ On Site ของทุกโรงเรียนอย่างปลอดภัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19 โดยความร่วมมือระหว่าง ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19 เป็นความท้าทายของคนทั้งโลก ซึ่งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ “(Omicron)” ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ซึ่ง ศธ.ได้มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในพื้นที่

สำหรับสถานศึกษาที่ตัดสินใจจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ On Site จะต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งข้อมูลการวัคซีนโควิด-19 และการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. ณ วันที่ 8 มกราคม 2565 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% เข็ม 2 แล้ว 78.11%

ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% เข็ม 2 แล้ว 69.52และขณะนี้รัฐบาลก็ได้รณรงค์ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น

"ที่ผ่านมาการปิดประเทศ lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิด On Site 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.09"

รมว.ตรีนุชกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง สิ่งที่พบคือสถานศึกษามีการปรับตัวและกวดขันในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความพร้อม ซึ่งก็ได้ติดตาม และสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดูแลสถานศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน จึงเป็นอีกวาระสำคัญที่ ศธ. และ สธ.ได้ร่วมมือกันสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวโน้มความรุนแรงของโอมิครอน และกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ รวมถึงความพร้อมที่จะเปิด On Stie ของทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย  

สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด  ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วยดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง

และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ได้แก่ การประเมิน TSC+ รายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง, การทำSmall Bubble สำหรับกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย, การจัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ, การอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ , การทำ School Isolation โดยมีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม, การทำ Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewssiam.com รายงานด้วยว่า ในการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ผ่านระบบ Zoom Meeting นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ให้ความสนใจในเนื้อหาจากวิทยากร และข้อความที่แสดงความคิดเห็น ผ่านระบบ Zoom ดังกล่าว เพื่อเก็บเป็นข้อมูลมอบหมายให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ซึ่งทางสำนักข่าว edunewssiam จะติดตามนำมาเสนอให้ทราบต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)