“ตรีนุช”ร่วมงานรําลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ครั้งที่ 12 ที่ปัตตานี

"รมว.ตรีนุช" ร่วมงานรําลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ครั้งที่ 12 ที่ จ.ปัตตานี ให้กำลังใจครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน พร้อมให้การสนับสนุนเติมเต็มเข้าถึงโอกาสไม่แพ้ภูมิภาคอื่น 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีพิธีคารวะอนุสรณ์สถานคุรุวีรชนชายแดนใต้ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี

พร้อมด้วยนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ,นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) , พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ร่วมพิธี

นางสาวตรีนุชกล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ว่า สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดงานรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียสละของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 183 ราย

ซึ่งตนได้มีโอกาสรับฟังและติดตามสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เข้าใจและเห็นใจถึงความยากลำบากของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงลูกหลานนักเรียนที่ต้องประสบและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ

“เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ อยากให้เกิดขึ้น เพียงแต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกเรา ไม่ว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคหรือท้องถิ่น ต้องเข้ามาดูแลพี่น้องเราที่นี่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต สิ่งใดที่ยังขาดเหลือก็ต้องมาช่วยกันเติมให้เต็ม ให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ของเราสามารถเข้าถึงโอกาสได้ไม่แพ้พี่น้องภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ”

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า วันนี้แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะค่อยๆ ทุเลาลงไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาตนได้มอบนโยบายในการจัดการศึกษาและป้องกันควบคู่กันไป

โดยจัดให้สถานศึกษาเลือกจัดการเรียนการสอนได้ 5 รูปแบบ หรือ 5 On และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนอายุ 12-17 ปี และล่าสุดจะมีการขยายช่วงอายุของเด็กที่จะได้รับวัคซีนลงมาในช่วงอายุ 5-11 ปี พร้อมทั้งให้สถานศึกษาป้องกันตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ตนเชื่อว่า เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์

รมว.ตรีนุชกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ครูเราต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ที่จะคอยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ให้ชุมชนและสังคมเป็น “ห้องเรียนชีวิต” ที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม

"โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้อื่นๆ มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน สังคมที่มีความพิเศษและโดดเด่นกว่าหลายๆ ภูมิภาคในประเทศไทย เชื่อว่ามีสิ่งดีๆ ที่น่าเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงพวกเราทุกคนได้เข้ามา เรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมในพื้นที่" 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)