"สกศ.-ยูนิเซฟ"ถกปัญหาปฐมวัยไทย พบอายุต่ำกว่า 5 ปี 5 แสนคน "เตี้ยแคระ"

"สกศ.-ยูนิเซฟ"ถกปัญหาปฐมวัยไทย พบอายุต่ำกว่า 5 ปี 5 แสนคน "เตี้ยแคระ" 

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดประชุมประเด็น “ความท้าทายในการพัฒนาและการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยในประเทศไทย” ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Zoom Meeting ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

โดยมี Ms.Severine Leonardi,Deputy Representative รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปฐมวัย พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากร สกศ. เข้าร่วม

ทั้งนี้ มีการรายงานสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) จากยูนิเซฟ พบจุดสำคัญว่าการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย อายุ ๓-๔ ปี เข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย ร้อยละ ๘๖.๓ ของจำนวนเด็กทั้งประเทศ ซึ่งการมีส่วนร่วมของพ่อและแม่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ชี้ให้เห็นว่าแม่มีส่วนร่วม ร้อยละ ๖๒.๒ มากกว่าพ่อที่มีส่วนร่วม ร้อยละ ๓๓.๙

และด้านโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี มีภาวะเตี้ยแคระ ร้อยละ ๑๓.๓ หรือประมาณ ๕ แสนคน สาเหตุเกิดจากผู้ปกครองไม่ทราบข้อมูลการเลี้ยงดู หรือผู้ปกครองไม่มีการศึกษา

นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำถึงพัฒนาการของเด็กปฐมวัย และสิ่งที่ขาดหายไประหว่างการเรียนออนไลน์ คือ วิชาชีวิตหรือการเข้าสังคม การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นของเด็กปฐมวัย

"เพราะพัฒนาการของเด็กเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต ซึ่งที่ประชุมจะได้สะท้อนความคิด เสนอประเด็นเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย"

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้วิเคราะห์จากสถิติในหลากมิติ เพื่อปิดช่องว่างของปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น วิเคราะห์จากการเกิดใหม่ของเด็กไทย ปัจจัยของผู้ปกครองด้านความพร้อม ความรู้เบื้องต้นในการดูแลเด็กปฐมวัย และสุขภาพจิต (Mental Health) ของผู้ปกครองและเด็กในขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดจากโรคระบาด

โดยข้อมูลจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษางานวิจัยเด็กปฐมวัยย้อนหลัง ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๔) พบว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจของครู ผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่ตอบสนองความต้องการเพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยกับเด็ก เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

อีกทั้งในระหว่างการประชุมได้มีการเน้นย้ำถึงภารกิจของงานนโยบาย สกศ. ที่จะดำเนินการรวบรวมแนวโน้มและผลสถิติของเด็กปฐมวัย รวมทั้งข้อมูลการเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคและรายจังหวัด วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อไป

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)