“พระสมเด็จ แก้วสารพัดนึก” ปิดแผ่นทองคำ คำว่า "ขรัวโต พระธาตุ ๒๔๐๑" พบค่าทองคำจากการตรวจสอบ 97.15% เป็นพระสะสมของคุณพ่อในชุดพระเนื้อทองคำผสม ได้นำไปตรวจสอบที่ "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563
พระสมเด็จ แก้วสารพัดนึก เนื้อพระเป็นแก้วสีน้ำเงินใส เมื่อส่องไฟให้ทะลุจะเกิดความโปร่งของเนื้อพระสมเด็จ และความสวยงาม แวววาว คำว่า “แก้วสารพัดนึก” นั้นหมายถึง แก้วที่เชื่อว่าถ้าผู้ใดมีอยู่ในครอบครอง นึกอะไรก็ได้สมใจ ดั่งใจคิด
พระที่ควรค่าแก่การศึกษาและสะสมองค์นี้เอง พ่อผู้เขียนได้มาชุดเดียวกับ พระสมเด็จ พลอยเนื้อแข็ง (สีแดง) ที่ปิดแผ่นทองคำ ซึ่งได้นำไปตรวจค่าทองคำเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
อยากให้ทุกท่านได้รับชมพระสมเด็จ แก้วสารพัดนึก ปิดแผ่นทองคำ กันอย่างชัดเจนผ่านวิดีโอชุดนี้ สามารถคลิกชมได้เลยค่ะ
พระสมเด็จ แบ่งพิมพ์ตามประสบการณ์ อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี
พระสมเด็จในมุมมองของนักสะสมและนักอนุรักษ์มีมากมายหลากหลายพิมพ์ ที่นอกเหนือจาก 5 พิมพ์นิยม ประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ยังมีพิมพ์ต่างๆ ที่นักสะสมได้นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้อีกมากมาย อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี ได้แบ่งพิมพ์พระสมเด็จกว้างๆ จากประสบการณ์ที่สะสมและพบเห็น คือ
1. พิมพ์วัง สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ
2. พิมพ์วัด สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ ซึ่งมีราวๆ 9 วัด คือ วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดโพธิ์ วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม วัดสระเกศ วัดลครทำ วัดขุนอินทประมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
3. พิมพ์บ้าน สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน
4. พิมพ์วังหน้า สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)
5. พิมพ์พุทธจารึก สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ
มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์วังจากตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
บทสวด “พระคาถาชินบัญชร” พร้อมคำแปล
ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม 3 จบ
ตั้งคำอธิษฐานว่า ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ
เริ่มสวดพระคาถา
๑.ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เยปิวิงสุ นะราสะภา
พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์
๒.ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก มุนิสสะรา
มี ๒๘ พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น
๓.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร
ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะพระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
๔.หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก
พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง
๕.ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเล
พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย
๖.เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว
มุนีผู้ประเสริฐคือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
๗.กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร
พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ
๘.ปุณโณ อังคุลิมาโลจะ อุปาลี นันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ
พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลีพระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก
๙.เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา
ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่
๑๐.ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะ ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง
พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง
๑๑.ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา
พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ
๑๒.ชินนานา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น
๑๓.อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะ โต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร
ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ
๑๔.ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพเต มะหาปุริสาสะภา
ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล
๑๕.อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ
ภาพพระสมเด็จ แก้วสารพัดนึก ปิดแผ่นทองคำ (ทอง 97.15 เปอร์เซ็นต์)
อ้างอิง : คำแปลบทสวดชินบัญชร
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)