สพม.บุรีรัมย์ลงพื้นที่ตามเด็กกลับมาเรียน "ตรีนุช" ลุย SAFE สถานศึกษาสัญจร

"สพม.บุรีรัมย์"ลงพื้นที่ตามเด็กกลับมาเรียน ด้าน "ตรีนุช" ลุุย SAFE สถานศึกษาปลอดภัยที่ จ.บึงกาฬ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงเรียนปากคาดพิทยาคม อำเภอปากคาด จ.บึงกาฬ  น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน SAFE สถานศึกษาปลอดภัย สัญจร จังหวัดบึงกาฬ

โดย น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ ศธ. เพราะสถานศึกษาเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของนักเรียน ศธ.จึงมุ่งเน้นให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจสำหรับนักเรียน โดยมีการนำแอพพลิเคชันเข้ามาช่วยให้เด็กๆ และผู้ปกครองสามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว หรือแจ้งมาที่ส่วนกลาง หรือศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE SAFETY CENTER ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกและทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น 

“SAFE สถานศึกษาปลอดภัย ได้มีการเปิดตัวไปแล้วที่ส่วนกลาง ตอนนี้ก็เป็นการขยายผลไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักและให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยแต่ละพื้นที่มีเรื่องความปลอดภัยไม่เหมือนกัน อย่างที่จังหวัดบึงกาฬมีกรณีเด็กจมน้ำเสียชีวิตค่อนข้างมาก ซึ่งการได้ลงพื้นที่ก็ทำให้ได้รับทราบปัญหา เพื่อนำมาวางแนวทางแก้ไขและป้องกันเหตุได้ โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 11 หน่วยงาน เพื่อเป็นพันธมิตรช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน” รมว.ตรีนุช กล่าว

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีมาตรการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การป้องกัน การปลูกฝัง และการปราบปราม เพื่อให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกสบายใจ อุ่นใจ และไว้วางใจ ว่าสถานศึกษาจะสามารถดูแลให้นักเรียนมีความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี 

สพฐ.ได้สร้างระบบและกลไกในการดูแลความปลอดภัยที่จะเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะเชื่อมโยงกับบุคลากรและศูนย์ความปลอดภัย ศธ. หรือ MOE Safety Center ให้การรับเรื่องแจ้งเหตุเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และส่วนกลาง ศธ. ก็สามารถเห็นรายงานการแก้ปัญหาให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากระบบ MOE Safety Center จะพร้อมใช้งานเพื่อรับแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษาแล้ว สพฐ.ยังได้จัดการอบรมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความพร้อมในการใช้งานแอพพลิเคชันนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาด้วย

หลังจากนี้ต้องมาดูว่าในสถานศึกษามีเหตุที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนหรือไม่ ซึ่งด้วยระบบเดิมที่ทำกันมาเมื่อเกิดเหตุกับเด็กในสถานศึกษา จะใช้วิธีการรายงานทางโทรศัพท์ ซึ่งไม่ทันท่วงที

"ดังนั้น เราจึงต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ปกครอง นักเรียนและครูประจำชั้น ซึ่งถือเป็นครูที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด จากนั้นจะมาถึงระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่ และระดับประเทศ ซึ่งถ้าทำให้ทุกโรงเรียนมีความเข้มแข็ง ทุกคนมีความตระหนัก ก็จะสามารถลดความไม่ปลอดภัยได้ ทำให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ที่มีความสุข และนักเรียนก็จะมีความอบอุ่น" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) บุรีรัมย์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. “พาน้องกลับมาเรียน” สู่การปฏิบัติ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายบุญชาย โชยรัมย์ รองผู้อำนวยการ สพม.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน ได้ลงพื้นที่ติดตามนักเรียนโรงเรียนโนนเจริญพิทยาคม อำเภอบ้านกรวด สังกัด สพม.บุรีรัมย์ กลับมาเรียน พร้อมทั้งได้มอบชุดอุปกรณ์การเรียน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการเรียนต่อไป 

ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ได้ตั้งเป้าตัวเลขเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็น “ศูนย์” จากทั้งหมด 121,655 คน รวมนักเรียนทุกสังกัดของ ศธ.ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)