"นายกฯตู่"ปลื้มชุดข้อมูลชุมชน Thailand Community Data จากโครงการ U2T อว.

นายกฯประยุทธ์ ชื่นชมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน “Thailand Community Data” จากโครงการ U2T ชี้เป็นประโยชน์พัฒนาพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก BCG สั่ง อว.ประสาน มท.เชื่อมโยงบิ๊กดาต้าวางแผนแบบมุ่งเป้า

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T และคณะผู้บริหาร อว. ได้นำเสนอชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Data) หรือ TCD จากโครงการ U2T แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เพื่อนำฐานข้อมูล TCD ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้าของประเทศที่มีความละเอียดสูงมากไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยยุทธศาสตร์บีซีจี

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้ชมการนำเสนอชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Data) หรือ TCD ดังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ชื่นชมโครงการนี้ที่ทำให้ได้ข้อมูลจริง ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เพื่อวางแผนในการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและแม่นยำขึ้น โดยอาศัยข้อมูลเป็นที่ตั้ง และเป็นเรื่องดีที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ รวมกันเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนที่มีความบูรณ์ยิ่งขึ้น

พร้อมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับบีซีจีมาสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และให้ อว.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม

ตนและผู้บริหาร อว.ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ที่อนุมัติให้ อว.ดำเนินการจ้างงานในโครงการ U2T เปิดโอกาสให้บัณฑิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ได้ลงไปทำงานกับชุมชน จนทำให้ประเทศได้ฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้าในชื่อ TCD

"วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ อว.ได้นำผลงานของผู้ได้รับการจ้างงานที่จัดทำเป็นฐานข้อมูลที่มีความละเอียดและครอบคลุมแทบจะทุกมิตินี้ มานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและ ครม.เพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจีที่เป็นวาระแห่งชาติต่อไป” รมว.อว.กล่าว

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ U2T กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันในฐานข้อมูล TCD มีข้อมูลที่จัดเก็บมาได้กว่า 1 ล้านชิ้น โดยแบ่งหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลประชากร อาชีพและรายได้ พืชและสัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น และที่พักโรงแรม เป็นต้น

ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บและเรียบเรียงเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่า เชื่อมโยงการวิเคราะห์กับข้อมูลความต้องการของตลาด ข้อมูลปัจจัยต่างๆ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการอื่น อาทิ ข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ข้อมูลการส่งออก ข้อมูล TPMAP ที่เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนและแก้จนแบบชี้เป้า เป็นต้น

ขณะนี้ อว.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจัดเก็บ อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุมทุกมิติ พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างหลากหลาย

"ที่สำคัญ อว.จะส่งคืนข้อมูลในฐานข้อมูล TCD นี้ให้กับชุมชนทั้ง 3,000 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง เพื่อนำไปใช้พัฒนา สร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนของตัวเอง และได้มอบให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้ามาสนับสนุนชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งเป้าตามนโยบายของรัฐบาล” ปลัด อว.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)