E-Classroom-E-Library ร.ร.สพฐ.มูลค่า 400 ล้าน จ่อตามมาหลอกหลอน!

ซด! ป.ป.ช.จ่อชี้มูลความผิด 100 ร.ร.สพฐ. ปมจัดซื้อจัดจ้าง E-Classroom-E-Library ปีงบฯ 2555-56 มูลค่า 400 ล้าน ส่ออาจถูกตั้งข้อกล่าวหาทำผิดหลายกระทง เผย 40 บุคลากรโรงเรียนใน จ.ชัยภูมิ โดนระบุโทษไปก่อนแล้ว หลัง สพฐ.ตรวจพบตั้งราคากลางสูงกว่าท้องตลาด ผิดทางละเมิด ต้องชดใช้ค่าสินไหม

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใกล้สรุปผลการไต่สวนและชี้มูลความผิดกรณีมีการร้องเรียนกล่าวหามีความไม่โปร่งใสในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library)

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) และปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ให้กับโรงเรียนในหลายจังหวัด อาทิ จ.ชัยภูมิ ระนอง ชุมพร ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมประมาณ 100 โรงเรียน มูลค่ารวมราว 400 ล้านบาท

โดยมีทั้งโรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) มูลค่าโรงเรียนละ 5 ล้านบาท และโรงเรียนที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) มูลค่าโรงเรียนละ 2.5 ล้านบาท

ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างในโครงการปรับรุงห้องเรียน (E-Classroom) และโครงการห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) และมีข้อค้นพบว่า

๑.ส่ออาจมีการกำหนดครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างของทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องกับแผนงานโครงการรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย

และ ๒.ส่ออาจมีการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อบางรายการใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง พฤติการณ์อาจส่อไปในทางเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อาจกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และอาจกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ มีผู้บริหารในหลายโรงเรียนในช่วงเวลานั้น เช่น โรงเรียนในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการใกล้จะเกษียณอายุราชการ ได้ขอคืนงบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าวให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพราะเกรงการใช้งบแปรญัตติของ ส.ส.จะเกิดเรื่องร้องเรียนกล่าวหาจนอาจถูกสอบสวนเอาผิดได้

ซึ่งในที่สุดโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) ก็ถูกร้องเรียนกล่าวหาให้สอบสวนหาผู้กระทำผิดจนได้ ซึ่งตามกระแสข่าวว่า ป.ป.ช.ใกล้สรุผลการไต่สวนและชี้มูลความผิดแล้ว เช่นเดียวกับกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. โดยส่อว่าอาจถูกชี้มูลมีการกระทำความผิดในหลายกระทง

อนึ่ง การสอบสวนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มูลค่ารวมราว 400 ล้านบาท เริ่มจากเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2558 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) พบว่าส่ออาจมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยกำหนดครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างส่อในลักษณะเริ่มงานใหม่ ไม่สอดคล้องตามแผนงานรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบและสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบอุบัติภัย

ต่อมาช่วงต้นปี พ.ศ.2559 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และสรุปผลการตรวจสอบรับฟังได้ว่า โครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555

นเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวหา และได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัด สพฐ.ในบางโรงเรียนกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรณีกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ (สเปก) ที่จะซื้อบางรายการให้ใกล้เคียงยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งในการจัดซื้อครุภัณฑ์ประกอบห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ E-Classroom) เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2556

รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งได้รับหนังสือร้องเรียนกล่าวหาเช่นกัน ได้แจ้ง สพฐ.ดำเนินการตรวจสอบกรณีมีการร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตรายการครุภัณฑ์ประกอบห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Classroom) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ซึ่งอาจส่อมีการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ที่จะจัดซื้อบางรายการใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง

กระทั่งมีกระแสข่าวในเวลาต่อมาว่า สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการดำเนินการของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2559

รวมทั้งมีการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของบุคลากรดำเนินการในโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยว่ากันว่า ความรับผิดทางละเมิดของบุคลากรโรงเรียนในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เกิดขึ้นสืบเนื่องจาก สพฐ.ในช่วงเวลานั้นได้มอบหมายให้โรงเรียน ซึ่งอ้างว่าเป็นหน่วยใช้พัสดุ ให้เป็นผู้พิจารณากำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์ในโครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Library) ให้ตรงกับความต้องการ

ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สพฐ.พบว่า โรงเรียนตั้งราคากลางสูงกว่าราคาในท้องตลาด และต่อมาได้ปรากฏมีหนังสือคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ใน จ.ชัยภูมิ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2559 จนถึงช่วงต้นปี พ.ศ.2561 สพท.ได้มีหนังสือคำสั่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ในโรงเรียนรวมจำนวน 40 คน ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้มีการยื่นเรื่องขออุทธรณ์ในเวลาต่อมา

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)