"ตรีนุช" ระดม ศธ.หนุน SAKAEO MODEL ปั้นเยาวชนสระแก้วมีคุณภาพสูงสุด

"ตรีนุช" ระดม ศธ.หนุน SAKAEO MODEL ปั้นเยาวชนจังหวัดสระแก้วมีคุณภาพสูงสุด พร้อมเดินหน้าปักหมุดเพิ่มการดูแลเด็กพิการ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ที่จังหวัดสระแก้ว นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว หรือ SAKAEO MODEL ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. กับจังหวัดสระแก้ว

ซึ่งมีผู้แทนประกอบด้วย นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และประธานกรรมการการศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว นางขวัญเรือน เทียนทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และนางสาวปวีณา จันทร์สุข ประธานมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต 

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่จังหวัดสระแก้วได้มีแผนพัฒนาจังหวัดที่มีประเด็นยุทธศาสตร์ที่  1 ด้านการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมของประชาชนให้สามารถปรับตัว ประกอบอาชีพและมีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยคนทุกช่วงวัยต้องมีทักษะ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ตาม 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วนของ ศธ. ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

ภายใต้แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วในรูปแบบ SAKAEO MODEL ที่เป็นกลไกสําคัญยิ่งในการช่วยพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถพัฒนาและสร้างนวัตกรรมการบริหารและนวัตกรรมการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และผู้เรียน สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพและเต็มตามศักยภาพ มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะการจัดการตนเองให้ปลอดภัย ทักษะการแก้ปัญหาที่ดี

ผู้เรียนสามารถเป็นนวัตกรผู้สร้างนวัตกรรม เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติ คือเป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของจังหวัดสระแก้ว สร้างความเสมอภาคและลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในจังหวัดสระแก้วได้อย่างดียิ่ง

ทั้งนี้ รมว.ตรีนุชกล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วที่ยั่งยืนในรูปแบบ SAKAEO MODEL นั้น เป็นการรวมพลังกันของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานการศึกษาในจังหวัดสระแก้ว กระทรวงศึกษาธิการ ท้องถิ่นจังหวัดสระแก้ว อบจ. อบต.รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน หน่วยงานภายนอก เช่น มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทิศทางเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกันคือ เด็กและเยาวชนของจังหวัดสระแก้วมีคุณภาพสูงสุด

อีกทั้งเป็นการร่วมมือกันพัฒนาผู้บริหารแบบมืออาชีพ ผู้บริหารโรงเรียนมืออาชีพ และครูมืออาชีพ ในโลกของการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีและโลกแห่งดิจิทัล  รวมทั้งเป็นการร่วมมือกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาสิ่งแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ที่ดี ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในจังหวัดสระแก้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาเด็กและเยาวชนของจังหวัดสระแก้ว ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้วิชาการ การวิจัย สามารถนําความรู้ด้านวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของตนเอง ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านอาชีพและการมีงานทํา และทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล บนโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เน้นให้เด็กและเยาวชนเกิดสมรรถนะที่สําคัญ 6 ด้าน คือ ด้านการจัดการตนเอง ด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านการรวมพลังทํางานเป็นทีม ด้านการคิดขั้นสูงด้านการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และด้านการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่าง ยั่งยืน

“โดยเรามีเป้าหมายเดียวกันสูงสุด คือเด็กและเยาวชนของจังหวัดสระแก้วเป็นผู้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นนวัตกรผู้สร้างนวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง” นางสาวตรีนุช กล่าว

นายสุทิน รองปลัด ศธ.กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้ร่วมเป็นผู้รับผิดชอบหลักและมีหน้าที่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดสระแก้ว รวมถึงการประสานงานความร่วมมือและร่วมส่งเสริมสนับสนุนการดําเนินงานตาม 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วนของ ศธ. การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล การพัฒนาด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การพัฒนาด้านการศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต

ดร.อัมพร เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ในส่วนของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วให้เกิดความยั่งยืน โดยเน้นส่งเสริม 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วนของ ศธ.ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพาน้องกลับมาเรียน โครงการโรงเรียนคุณภาพ และโครงการความปลอดภัยในสถานศึกษา

ดร.สุเทพ เลขาธิการ กอศ กล่าวว่า สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วให้เกิดความยั่งยืน โดยร่วมเป็นผู้รับผิดชอบหลักและมีหน้าที่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดสระแก้ว รวมถึงการส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศูนย์อาชีพสู่ความเป็นเลิศในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลและสาขาการก่อสร้าง ด้านอาชีพการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้านศูนย์ CEC การฝึกอาชีพของจังหวัด

นายปริญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วได้ดําเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาในรูปแบบของคณะกรรมการ และมีการวางแผนร่วมกันในการหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว โดยร่วมกันออกแบบแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วในรูปแบบ SAKAEO MODEL เป็นแนวทางการพัฒนา 6 ขั้นตอน โดยทุกขั้นตอนใช้กระบวนการ PDCA 

โดยขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาดังกล่าว ได้จัดทําประกาศจังหวัดสระแก้วเรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วในรูปแบบ SAKAEO MODEL ให้ หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดสระแก้วได้นําไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้วให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มจากขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT

ผลที่ได้คือ ใน ปี พ.ศ.2565 ต้องเร่งดําเนินการดังนี้  1.โครงการแก้ปัญหาและส่งเสริมการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น สําหรับเด็ก ป.1-ป.3 ทุกสังกัด 2.โครงการพัฒนาให้โรงเรียน 327 แห่ง ใช้หลักสูตรเทียบเคียงฐานสมรรถนะ 3.โครงการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงสําหรับผู้เรียนระดับ ป.4-ม.6, ปวช.-ปวส. และระดับอุดมศึกษา สําหรับการเป็นนวัตกรผู้สร้างนวัตกรรม และ 4.โครงการพัฒนาผู้เรียนสู่อาชีพและมีงานทํามีรายได้ระหว่างเรียน

นางขวัญเรือน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สำหรับสํานักงานการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสระแก้วได้ร่วมประสานส่งเสริมการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด อบจ., เทศบาล และ อบต. ให้จัดการศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดสระแก้ว

นางสาวปวีณา ประธานมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในจังหวัดสระแก้ว และการประสานงานกับองค์การนานาชาติในระดับนโยบาย เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังร่วมสนับสนุนนักวิชาการ คณะนักวิจัย วิทยากร ทรัพยากรตามความเหมาะสม ร่วมถึงการสนับสนุน ทางด้านวิชาการ และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง และที่ปรึกษาในการออกแบบเครื่องมือ ประเมินสมรรถนะ และกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชนเพื่อพัฒนาสมรรถนะ เป็นพี่เลี้ยงติดตามสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนแบบสมรรถนะ

"และให้ข้อเสนอแนะ การประสานกับองค์การนานาชาติในระดับปฏิบัติการด้านวิชาการ อาทิ การประสานวิทยากร เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบอิงฐานสมรรถนะ"

อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนพิการตามโครงการปักหมุดเด็กพิการ ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้ว สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ซึ่งมีทั้งนักเรียนพิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

ทั้งนี้ นางสาวตรีนุชกล่าวภายหลังว่า ตนมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และตรวจดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานปักหมุดเด็กพิการ ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน และรับฟังปัญหา ซึ่งจากที่ทางศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้วจัดให้มีครูมาช่วยดูแลให้การศึกษาแก่เด็กที่บ้าน พบว่า บุคลากรไม่เพียงพอต่อเด็กกลุ่มนี้ ครูพี่เลี้ยง 1 คน ต้องดูแลเด็กหลายคน และแต่ละคนก็มีความบกพร่องที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การดูแลขาดความต่อเนื่อง

"ศธ.เข้าใจถึงปัญหาความขาดแคลน แต่การสรรหาบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลเด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจและมีเมตตา ดังนั้น นอกจากการเพิ่มบุคลากรเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้แล้ว ศธ.จะสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องการดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้แก่ผู้ปกครองด้วย เนื่องจากผู้ปกครองเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กตลอดเวลา จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เป็นอย่างดี” รมว.ศธ.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)