ส่องหลักสูตรอาชีวะ'65 ระบบเรียนรองรับทุกช่วงวัย เท่าเทียม เสมอภาค ปลอดภัย สมรรถนะเต็ม'4.0

EunewsSiam : รายงานพิเศษ

ส่องหลักสูตรอาชีวะ'65 ระบบเรียนรองรับทุกช่วงวัย เท่าเทียม เสมอภาค ปลอดภัย สมรรถนะเต็ม'4.0

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : รายงาน

จับประเด็นความตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่าง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและลังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๗๐) โดยผลักดันให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและประสิทธิภาพ มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความปลอดภัย และมีสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑

ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับไปในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ต้องยอมรับความเป็นจริงถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งความทุกข์ยากลำบากอย่างสาหัสสากรรจ์กระทบต่อการจัดการการศึกษากันทั่วหน้า โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของการศึกษาย่อมเป็นองคาพยพหนึ่งที่สำคัญต่อการการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ได้รับการพัฒนา เพื่อมีชีวิตอย่างคุณภาพ ย่อมได้รับผลด้วยเช่นกัน

แม้ว่าสังคมจะได้เห็นการพยายามปรับตัวของศธ. ในทุกหนทางที่จะงัดทุกแผนมีทั้งเชิงรุก เชิงรับ บรรจุไว้ในแผนเผชิญเหตุทุกสถานการณ์อย่างเข้มข้น ไม่ว่า การเรียน on-line การเปิดเรียน on-site แบบปลอดภัย  การหาวัคซีนมาฉีด และ ปฏิบัติตามทุกมาตรการที่ทางสาธารณสุขกำหนดออกมา เพื่อการอยู่รอดปลอดภัยในทุกชีวิตของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษา ในทุกสังกัด ทำให้ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนชีวิตไห้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ก็ตาม

แต่แผนการดำเนินงานหลักที่กำหนดไว้ อาจนำมาเปรียบเปรยได้ในลักษณะที่ว่า โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” ฉันใด นโยบายสู่การปฏิบัติยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป ฉันนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด ผู้นำที่มีปัญญาความสามารถ ย่อมนำพาไปสู่ความสำเร็จได้

ซึ่งในที่สุดแล้ว แม้ ศธ.จะประคองตัวผ่านพ้นปีการศึกษา 2564 มา แต่ก็เป็นแบบต้องลุ้นเอาใจช่วยกันตลอด ทั้งในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มี ดร..อัมพร พินะสา เป็นเลขาเลขาธิการ (กพฐ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เป็นเลขาเลขาธิการ  

ซึ่งทั้ง 2 องค์กรหลักที่ยกอ้างนี้ข้างต้น เป็นหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมหนีไม่พ้นจากการวิพากวิจารณ์ ซึ่งมีทั้งภาพเชิงลบและเชิงบวก ตลอดคำแนะนำ ให้กำลังใจที่ค่อนข้างหลากหลายต่างกันไป ก็ต้องถือเป็นเรื่องปกติของคนที่ทำงาน

และยิ่งพิจารณาถึงภาระงาน ความรับผิดชอบ ของ 2 องค์กรหลักสำคัญ ดังกล่าวใน ศธ.แล้ว จะพบว่า แม้จะมีความต่างและความเหมือนที่ผสมปนเปกันทั้งอย่างหนาและบางในตัวเนื้องาน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และ พหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อจับๆไปที่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการจัดการศึกษาและจุดเน้น ของกระทรวงศึกษาธิการ ปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ลงนามโดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.ออกมาล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งความจริงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคำแถลงนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อ ของรมว.ศธ.ที่ให้ไว้ในวันเข้ารับตำแหน่ง และตามมาด้วยวาระเร่งด่วน (Quick Win)  อีก 7  ข้อ นั่นเอง ประกอบด้วย 

การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย การยกระดับคุณภาพการศึกษา การสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย  การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน .การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครูบุคลากรทางการศึกษาและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล และ การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ  

ซึ่งความหมาย วาระเร่งด่วน ( Quick Win) ที่ชาวบ้านเข้าใจกัน คือ การทำให้เห็นผลโดยเร็วพิเศษ ใช้ระยะเวลาไม่นาน...  

พบความน่าแปลกใจในส่วน ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในยุคที่มี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ ฯ เข้ามามีบทบาทรับผิดชอบ พบว่า...ได้มีการขับเคลื่อนดำเนินการไปแล้วหลายด้าน ทั้งในลักษณะที่เป็นงานใหม่และงานที่กำลังสืบสาน สนับสนุน ส่งเสริม ต่อยอดงานเดิมที่ทำต่อเนื่องกันมาจนเห็นผลในเชิงพัฒนา เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษา ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อผู้เรียนและประชาชน ก็มีมิใช่น้อย อาทิ

การทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงโลกอาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เอง ตั้งเป้าหมายจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 นั้น มีความน่าสนใจที่มีหลายประการต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก อาทิ

ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ ให้มีความยืดหยุ่น และเชื่อมโยงการสำเร็จการศึกษา และการมีงานทำ ซึ่งจะนำไปใช้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี  

มีการปรับลดรายวิชาสามัญ เพิ่มรายวิชาชีพที่สร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน และบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพในชุดวิชาเดียวกัน ที่เรียกว่าการจัดหลักสูตรแบบโมดูล เพื่อส่งเสริมผู้เรียนในด้านสมรรถนะของงานอาชีพ มีการจัดการเรียนรู้แบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเรียกว่าธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ (Credit Bank) ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ โดยกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการ และนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่า การพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาและหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น มีการบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพไว้ในชุดวิชาชีพเดียวกัน สามารถนำไปเชื่อมโยงการจัดการอาชีวศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และ ระบบทวิภาคี รวมทั้งการจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่องเพื่อสะสมหน่วยการเรียนรู้ ที่ร่วมมือกับสถานประกอบการในการจัดการอาชีวศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อการมีงานทำ

ครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง Block course และพัฒนาหลักสูตร เพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาและยังไม่มีงานทำ กลุ่มผู้เรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และคนวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการ Up-Skill, Re-Skill ทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียน และ การเรียนรู้แบบออนไลน์

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง รวดเร็ว มีความซับซ้อน เป็นการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นและการทบทวนทักษะความชำนาญ มีมิติในห่วงโซ่คุณค่าของสาขาอาชีพ ทั้งด้านตำแหน่งงาน งานวิกฤต สร้างสมรรถนะกำลังคนและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ เท่ากับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปในตัว

หากการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ เป็นไปในทิศทางดังกล่าว ทุกอย่างที่ตามมา เชื่อว่าย่อมมีผลดีต่อการพัฒนาขับเคลื่อนสมรรถนะอาชีพที่สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ โดยการ Re-skill Up-skill และ New skill เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการสร้างช่องทางอาชีพในรูปแบบหลากหลาย ให้ครอบคลุมผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   

 

ไม่เพียงเท่านั้น อาชีวะยุคใหม่ ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยเพื่อการมีงานทำ โดยบูรณาการความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สถาบันสังคมอื่น

การพัฒนาหลักสูตรอาชีพสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่นอกระบบโรงเรียนและประชาชนที่สอดคล้องมาตรฐานอาชีพ เพื่อการเข้าสู่การรับรองสมรรถนะและได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รวมทั้งสามารถนำผลการเรียนรู้และมวลประสบการณ์เทียบโอนเข้าสู่การสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) ได้

 

การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงานในภาคเกษตร โดยการเพิ่มบทบาทการอาชีวศึกษาในกลุ่มเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) และกลุ่มยุวเกษตรกรอัจฉริยะ (Young Smart Farmer) ที่สามารถ รองรับการประยุกตไซ้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้

การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ ที่พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ระบบการประเมินผล การศึกษาทุกระดับและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบสนองผลลัพธ์ ทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม

 

ในที่สุด การขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และ ยกระดับสมรรถนะกำลังคน ตามกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และมาตรฐานสากล รวมทั้งขับเคลื่อนความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถานประกอบการในการผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ น่าจะสำเร็จได้ไม่ยาก

เนื่องจาก สอศ.เอง สนับสนุน ส่งเสริม การพัฒนาแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ตามสมรรถนะ ที่จำเป็นในการเข้าสู่อาชีพ อย่างเต็มที่อยู่แล้ว เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้คัดเลือกเข้าทำงาน ศึกษาต่อ ขอรับประกาศนียบัตรมาตรฐาน สมรรถนะการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) การขอรับวุฒิบัตรสมรรถนะภาษาอังกฤษ (English Competency)  

รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการจัดทั้งธุรกิจ (ศูนย์ Startup) ภายใต้ศูนย์พัฒนาอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการ และ พัฒนาศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษา เพื่อการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการ ด้านอาชีพทั้งผู้เรียนอาชีวศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเชื่อมโยงกับ กศน. และสถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ 

ดังนั้น ภาพอนาคตของสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตามที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยกให้เป็นความสำคัญและมีความคาดหวังสูงยิ่งต่อการมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐) เพื่อไทยจะมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต สอดคล้องและเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

การปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  ในส่วนของอาชีวะ ล้วนหลากหลายมีทิศทางชัดเจนชัดต่อการก้าวไปข้างหน้า ทั้งในมิติเชิงลึกและกว้าง เท่ากับสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย อย่างแท้จริง

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)