41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ (ตอน 2)

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพอาชีพ ที่พูดย้ำได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ยึดมั่นการเดินตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร สนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ด้านของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสร้างคนดีมีความรู้ความสามารถให้บ้านเมือง

"...๑) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง  ๒) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง  ๓) มีคุณธรรมและ ๔) มีงานมีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองที่ดีมีระเบียบวินัย...

ณ ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงทุ่มเทพระองค์เอาพระราชหฤทัยใส่ให้ความสำคัญการศึกษาของพสกนิกรชาวไทย เยาวชนไทย  ทรงมุ่งมั่นในการสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นห่างไกล ประชาชนที่มีความเป็นอยู่ยากจนทำให้ด้อยโอกาสหรือขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และทรงมุ่งมั่นสร้างคนดีให้บ้านเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือในการประกอบสัมมาอาชีพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับตนเอง ครอบครัว ช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน อันเป็นแนวทางดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองพัฒนาความเจริญให้ประเทศ 

ดังเช่น พระราชทานโอกาสให้คนไทยลูกหลานไทย ที่ไม่มีโอกาส ด้อยโอกาสขาดโอกาสทางการศึกษาตามปรกติ นำไปสู่การไร้ทักษะฝีมือทางอาชีพ ได้มีโอกาสเรียนและเรียนฝึกอาชีพประกอบอาชีพได้ โดยพระราชทานพระราชดำริให้ตั้ง มูลนิธิพระดาบสที่ให้โอกาส คนด้อยโอกาส ขาดโอกาสเรียนอาชีพ แต่เป็นคนขยัน   ได้เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรีจนจบโครงการการศึกษาหลักสูตรอาชีพระยะสั้น 1 ปี  เรียนฝึกอาชีพพระราชทานด้วยการลงมือเรียนจริง ทำอาชีพจริง ให้เกิดรู้ความชำนาญ  ผสมผสานปลูกฝังการเรียนรู้ดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปด้วย

จากเดิม โรงเรียนพระดาบส สู่ อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ  ที่กลุ่มสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมสืบสานพระราชดำริ เปิดโครงการนำร่อง 12 วิทยาลัย เป็นรุ่นแรก ในปีงบประมาณ 2561 ได้แก่ 1. วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา 3. วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม 4. วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา 5. วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง 6. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี 7. วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร 9. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว 10. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี 11. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และ 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี โดยรับนักศึกษาเข้าเรียนแบบเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี รุ่นละไม่เกิน 30 คน ด้วยงบประมาณของ สอศ. ในการดำเนินงาน

กลุ่มสถานศึกษาสังกัด สอศ.นำร่องทั้ง 12 แห่ง ดังกล่าว ได้จัดการเรียนการสอนอาชีวะสร้างช่างฝีมือ  มีรูปแบบการเรียนที่ผู้เรียนจะได้รับการฝึกขั้นพื้นฐานจากสถานีฝึก 12 สถานี ดังนี้ งานไม้ งานตะไบ งานปูน งานตีเหล็ก งานเขียนแบบ งานไฟฟ้า งานยานยนต์ งานเชื่อม งานอิเล็กทรอนิกส์  นิวเมติกส์ เศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรมจริยธรรม ประวัติศาสตร์ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

จากนั้นอีก 3 เดือน จะเป็นการฝึกทักษะฝีมืออย่างเข้มข้นให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัด และความสนใจ และ 2 เดือนต่อมา ก็จะฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ และการสอนมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทักษะที่จำเป็นสำหรับการออกสู่โลกอาชีพต่อไป โดยผู้เรียนจะได้รับใบสัมฤทธิบัตร เมื่อสำเร็จการศึกษาตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว

เมื่อจบการศึกษาก็วัดฝีมือ โดยจัดให้มีการแข่งขันทักษะอาชีพที่ร่ำเรียนมา เพื่อก่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและเกิดความมั่นใจในอันที่จะนำไปประกอบอาชีพได้อย่างภาคภูมิใจ  จากรุ่นแรกถึงปัจจุบันผู้เรียนจบการศึกษา มีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งทางสอศ.จัดให้มีการแข่งขันทักษะฝีมือ อาชีวะสร้างช่างฝีมือระดับชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26-28 มิย.62 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี

ผลการประเมินคุณภาพการดำเนินโครงการอาชีวะฯ โดยลงพื้นที่ประเมินระหว่าง เดือน พฤศจิกายน 2563มีนาคม 2564 น่ายินดีว่า กลุ่มสถานศึกษาสังกัด สอศ.นำร่อง ทั้ง 12 แห่ง ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพ ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน ร้อยละ 100

เท่ากับว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทย สืบสานพระราชปณิธาน  ใน พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง

โดยมุ่งสร้างคนดีคนเก่งเพื่อประโยชน์สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการปูทางสู่ความเป็นคนดีและมีความเชี่ยวชาญทางสายอาชีพเพื่อสร้างงานสร้างรายได้สร้างฐานะครอบครัวไม่เป็นภาระแก่สังคม

อีกทั้งยังเป็นการสนองพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานดังกล่าว เป็นที่มาโครงการศึกษาสายอาชีพ 1 ปี โดยน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริโรงเรียนพระดาบส มาเป็นหลักจัดการเรียนการสอน

ย้ำว่านี่เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาเน้นเพื่อให้ทำอาชีพได้ ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ที่ขยัน  ว่างงาน เข้ารับการศึกษาหลักสูตรอาชีพระยะ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนที่มีทักษะวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต

โรงเรียนพระดาบส เปิดสอน รุ่น 1 เมื่อปี 2519  มีทั้งหมด 8 หลักสูตร โดยศิษย์พระดาบส (ชาย) จะได้เลือกเรียนในสาขาที่ตนมีความรู้ความถนัดใน 7 หลักสูตร ได้แก่ วิชาชีพช่างยนต์ วิชาชีพช่างไฟฟ้า วิชาชีพช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิชาชีพช่างซ่อมบำรุง วิชาชีพการเกษตรพอเพียง วิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน และ  วิชาชีพช่างเชื่อม ขณะที่ศิษย์พระดาบส (หญิง) จะเข้าเรียน ในหลักสูตรเคหะบริบาล เรียนรู้การดูแลสุขภาพพื้นฐาน เพื่อดูแลผู้สูงอายุและเด็ก หรือ งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนในแต่ละหลักสูตร จะมีความเข้มข้น   สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของโรงเรียน ที่ต้องการเห็นศิษย์ทุกคนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วสามารถนำความรู้ทักษะที่ได้รับมาปฏิบัติงานหาเลี้ยงชีพได้จริง

โดยแต่ละปีจะคัดเลือกศิษย์เข้าเรียน 150 คน แบ่งเป็น ศิษย์พระดาบส (ชาย) 120 คน และศิษย์พระดาบส (หญิง) 30 คน ซึ่งทั้งหมดเขาเหล่านั้นต่างรู้ดีว่า ช่องทางแห่งโอกาสเปิดกว้าง แก่ผู้ไม่ยอมแพ้แล้วเพราะผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีวุฒิความรู้ขั้นต่ำแต่อย่างใด  ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและค่าที่พัก รวมถึงยังได้รับอาหารฟรีทุกมื้อด้วย

ตลอดระยะเวลาการเรียนการสอน 1 ปีเต็ม ศิษย์พระดาบส จะได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานช่าง ก่อนเข้าสู่โหมดฝึกพื้นฐานชีวิต ผ่านการฝึกทักษะวิชาชีพเฉพาะทาง และฝึกงานในสถานประกอบการ ซึ่งการเรียนที่แตกต่างจากสถานศึกษาแห่งอื่น ทำให้ในช่วงเดือน ม.ค. มี.ค.ของทุกปี จะมีหนุ่มสาววัย 17-35 ปี จากทั่วราชอาณาจักร ที่ขาดโอกาสเล่าเรียน แต่ใฝ่รู้ ใฝ่ดี  มุ่งมั่นแสวงหาหนทางแห่งอาชีพ พากันเข้ามาสมัครเป็นศิษย์พระดาบสเกินโควตาหลายร้อยคนต่อปี

ไล่เรียงมาถึงปีการศึกษา 2560 เป็นศิษย์รุ่นที่ 41 มีตัวเลขผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพระดาบส รวมแล้วกว่า 2,000 คน นับว่าเป็นโรงเรียนที่ได้สร้าง โอกาสครั้งที่สองของชีวิต ดร.สมยศ เจตน์เจริญรักษ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบส กล่าว

 แหล่งความรู้แห่งนี้ ผลิตศิษย์คุณภาพมากมายออกสู่สังคม หลายคนเป็นพนักงานประจำตามองค์กรต่าง ๆ  บางคนเปิดกิจการขนาดเล็กเป็นของตัวเอง ขณะที่ศิษย์บางคนกลับมาเป็นครูสอนศิษย์รุ่นน้อง เรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมูลนิธิพระดาบส 

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงจัดการเรียนการสอน สืบสานพระราชปณิธานสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนคนไทยใน พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างคนดีคนเก่งเพื่อประโยชน์สังคมและประเทศชาติ  ที่มีความเชี่ยวชาญทางสายอาชีพเพื่อสร้างงานสร้างรายได้สร้างฐานะครอบครัว ไม่เป็นภาระแก่สังคม แต่ยังมีโอกาสทำความดีให้สังคม อันเป็นการสนองพระบรมราโชบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชดำริ

         สอศ. ได้ดำเนินโครงการอาชีวะพระดาบส เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560  ดังที่นำเสนอข้างต้นว่า ศึกษาแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส  นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการอาชีวะฯ และเริ่มดำเนินการนำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ เวลา 1 ปี ในสถานศึกษาอาชีวะของรัฐ จำนวน 12 แห่ง รุ่นละไม่เกิน 30 คน

ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561  สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ

ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ระบุด้วยความภาคภูมิใจว่า เมื่อนำหลักสูตรและวิธีการโรงเรียนพระดาบส  มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการอาชีวะพระดาบส  สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้คนในบ้านเมืองเราได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน  โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนที่มีทักษะวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิตได้อย่างลงตัว

และยืนยันจากผลการประเมินคุณภาพการดำเนินโครงการอาชีวะฯ ที่ลงพื้นที่ประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563มีนาคม 2564 ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพทั้ง 12 แห่ง ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน ร้อยละ 100 นับตั้งแต่ปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการ  จึงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ขยายการศึกษาพิเศษอาชีวะพระดาบสดังกล่าวในรั้ววิทยาลัยสังกัดอาชีวะจาก 12 แห่งเป็น 30 แห่งทั่วประเทศแล้ว ดังรายชื่อ...

1.วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี 2. วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 3. วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จ.เพชรบุรี 4. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 5. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี 6.วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย 7.วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก 8. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร 9. วิทยาลัยการอาชีพอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10.วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จ.น่าน 11. วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จ.ปัตตานี 12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว 13.วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 14.วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จ.ลำปาง 15.วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน 16.วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 17 วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ 18.วิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 19. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร จ.ยโสธร 20.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.จร้อยเอ็ด 21.วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู 22.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จ.อุดรธานี 23.วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม 24.วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 25.วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จ.ลพบุรี 26.วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จ.นนทบุรี 27.วิทยาลัยการอาชีพหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 28. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จ.ชุมพร 29.วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า จ.พังงา และ 30.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จ.ระนอง

เท่ากับมองเห็นประโยชน์ที่เกิดกับคนไทยประเทศไทยมหาศาล กับการจัดการเรียนการสอนนี้ โดยจัดงบประมาณให้ถึง 1.1 พันล้านบาท เพื่อผลิตนักเรียนช่างสืบสานพระราชดำริของพระราชา ในโครงการอาชีวะพระดาบส

รายงานพิเศษ edunewssiam (ตอนที่ 2.)

เสกสรร สิทธาคม

(โปรดติดตาม 41 ปี จากโรงเรียนพระดาบส สู่อาชีวะพระดาบส สืบสานแนวพระราชดำริ ตอนต่อไป)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)