‘จิกทะเลซ่อมป่าชายเลน’-‘ชุดตรวจโรคอุบัติใหม่’ 2 นวัตกรรม น.ร.ไทย ดังเวทีโลก

‘จิกทะเลซ่อมแซมป่าชายเลน’-‘ชุดตรวจโรคอุบัติใหม่’ 2 นวัตกรรม น.ร.ไทย ดังไกลเวทีโลก ISEF 2022

จากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกันสนับสนุนคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทย 15 คน จาก 7 ทีม ไปร่วมการแข่งขันประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 จัดขึ้นวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

โดยปีนี้มีโครงงานเข้าร่วมประกวด 1,410 ผลงาน จากนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศ และมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลปรากฏว่าในรอบการประกวดรางวัลพิเศษ (Special Award) มีทีมเยาวชนไทยคว้า 2 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วย

รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ของสมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากผลงาน “โครงงานการพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านใน ด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”

ผู้พัฒนาได้แก่ นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โดยมีนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นผลงานการวิจัยที่มีการบูรณาการวิทยาการจากหลากหลายสาขายอดเยี่ยม

นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีมนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กล่าวว่า สำหรับผลงานนวัตกรรมวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการลดลงของป่าชายเลน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายๆ ด้าน

เนื่องจากป่าชายเลนเป็นแหล่งพลังงาน อาหาร ที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ รวมถึงเป็นแนวชายป้องกันฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่น ลม กระแสน้ำและพายุ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของมนุษย์จากการทำประมง การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การศึกษา และการท่องเที่ยว หรือแม้แต่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นวัตกรรมชิ้นนี้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายในการซ่อมแซมป่าชายเลนในบริเวณที่คนเข้าไปซ่อมแซมไม่ถึง ด้วยการใช้วิธีลอยวัสุดปลูกผ่านรากของพืชที่มีความหนาแน่นโดยอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น แรงของคลื่น ลม และน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งการใช้นวัตกรรมชิ้นนี้ในการฟื้นฟูป่าชายเลนจะสามารถช่วยในการฟื้นฟูได้ในปริมาณที่มากกว่าวิธีการปลูกแบบทั่วไปในระยะเวลาที่เท่ากัน

อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เล็กหรือใหญ่ เช่น พืชในป่าชายเลนสามารถลดทอนแรงของคลื่นได้ ส่งผลให้ลดการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่น หรือแม้แต่แสมขาวที่เป็นพืชตัวอย่างที่เราเลือกมาใช้ในการศึกษา ยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารเคมีตกค้างในป่าชายเลนได้อีกด้วย

"นอกจากนั้นแล้ว นวัตกรรมชิ้นนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูแหล่งรายได้ที่สำคัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากการฟื้นฟูแหล่งทำประมง การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การศึกษา และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยชุมชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมชิ้นนี้ได้ง่าย เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่หาได้ง่าย ทำให้มีราคาถูก และสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปใช้งานจริงได้" นายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีมนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี กล่าว

อีกหนึ่งผลงานรางวัลพิเศษ (Special Award) ได้แก่ “โครงงานการพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม (Sawasdee-AMP)”

ผู้พัฒนาได้แก่ นายกุลพัชร ชนานำ นางสาวปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม โดยมี ดร.เกียรติภูมิ รอดพันธ์ ครูสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ดร.วันเสด็จ เจริญรัมย์ จากไบโอเทค สวทช. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โครงงานดังกล่าวได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลก จาก USAID หรือ องค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

นายกุลพัชร ชนานำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีม Sawasdee-AMP นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า พวกเราได้พัฒนานวัตกรรมต้นแบบชุดตรวจโรคเชิงสีสำหรับการตรวจโรคที่เกิดจากทั้งไวรัส แบคทีเรีย พาราไซต์ โดยการรวม pH-sensitive dye เพื่อให้ใช้งานได้โดยง่าย

โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 เพื่อให้การตรวจโรคเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน ในราคาที่ไม่แพง แต่ยังคงมีประสิทธิภาพสูง เทียบเท่าวิธีมาตรฐานที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายนี้ ก็จะทำให้การตรวจโรค เฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรคทำได้เร็ว และครอบคลุมยิ่งขึ้น

"นอกจากนี้ ต้นแบบชุดตรวจของพวกเราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจโรคอื่นๆ ได้ ด้วยการเปลี่ยนองค์ประกอบเพียงแค่ 1 ชนิด ทำให้ง่ายต่อการตรวจโรคที่อาจอุบัติใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย" นายกุลพัชร ชนานำ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้าทีม Sawasdee-AMP นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)