สนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการขุดลอกแก้มลิงหนองแสงอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขชาวมัญจาคีรี

“...วันนี้ก็ขอพูด  ขออนุญาตที่จะพูด เพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอ และเหมาะสม  คำว่า พอเพียงก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภคในการใช้  ทั้งในด้านการบริโภคในบ้าน  ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  ต้องมีพอ  ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภาคภูมิใจว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก  ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ  ถ้าไม่มีน้ำ...

                                  พระราชดำรัสเมื่อวันที่  4  ธันวาคม  2536

                                         ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          ว่ากันว่าในแต่ละปีมีฝนตกในประเทศไทย 7.2 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล.ลบม.)โดยประมาณ ที่ส่วนหนึ่งไหลลงหนอง คลอง บึง    และซึมซับอยู่ในพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ ส่วนจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหนและเก็บกักไว้ได้นานเพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพของแหล่งน้ำดังกล่าว ปริมาณน้ำฝนเกินที่หนองคลองบึงรับได้ก็จะหลากไป และเมื่อสิ้นฝนเข้าสู่หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำเหลือให้เป็นประโยชน์แก่คนและสรรพสัตว์สรรพสิ่งมีชีวิต  ที่ต้องอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงเพื่อความเจริญงอกงาม ทั้งน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค ทั้งเพื่อผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารและเพื่อการอุตสาหกรรม อันเป็นอีกปัจจัยนำไปสู่ความเจริญความสุข

         

       เห็นได้อย่างชาชินว่าประเทศไทย หน้าฝนแต่ละปีน้ำท่วม ในหน้าแล้งแทบทุกปี  ประชาชนคนไทยทุกหย่อมหญ้าก็เดือดร้อนเรื่องขาดแคลนน้ำ  เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร  อุตสาหกรรมก็เดือดร้อน กระทบถึงน้ำกินน้ำใช้ก็มีเดือดร้อนกันพอสมควรทีเดียว

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ตราบเสด็จสวรรคต  ทรงครองราชย์ยาวนานถึง  70  ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทย ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกร ตรัสถามถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงได้ทอดพระเนตรเห็นการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น ทำให้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า ราษฎรของพระองค์ที่ประสบความทุกข์ความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต หลักใหญ่คือขาดปัจจัยแห่งชีวิตคือ น้ำ

         

      จึงได้ทรงทุ่มเทพระองค์สร้าง พัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบอันเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อประโยชน์สุข ตามสภาพแห่งภูมิสังคม ตามความเหมาะสมของชุมชนที่จะได้รับประโยชน์ทั่วถึง พระราชทานไว้ให้เป็นมรดกแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ได้ใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อดำรงชีพมีความสุขอย่างยั่งยืนตามวิถีแห่งความพอเพียง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10  ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสานพระราชปณิธาน ดังพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะสืบสาน  รักษา  และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป

         

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกจำนวนมาก รวมถึงทรงรับโครงการแหล่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พัฒนาโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการครั้งดำรงพระอิสสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร ให้มีศักยภาพสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยทรงมุ่งสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนแก่ราษฎร

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2565 เวลา 09.30 น. ที่โครงการขุดลอกแก้มลิงหนองแสงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น นายจรัลธาดา กรรณสูต ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ สนองพระมหากรุณาธิคุณ ลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินโครงการขุดลอกแก้มลิงหนองแสงฯ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชน โดยรับฟังบรรยายสรุปแผนการดำเนินงานฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน

โอกาสนี้ได้ร่วมพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้แล้วสร็จ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชน จากนั้นเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่โครงการฯ พร้อมพบปะพี่น้องประชาชนเพื่อรับทราบความเป็นอยู่การประกอบอาชีพและความต้องการการใช้น้ำเพื่อนำไปขยายผลต่อยอดโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

         

        พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยราษฎรที่ต้องประสบปัญหาในเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีลำน้ำชีเป็นลำน้ำสายหลักเมื่อปี 2539 สรุปความว่า ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ต่อมาในปี 2540 พระราชทานพระพระราชดำริเพิ่มเติม ให้สำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำรอบ ๆ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่อำเภอมัญจาคีรีขึ้นมาทางเหนือ เพื่อพิจารณาขุดลอกอ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนั้นจะช่วยให้สามารถนำน้ำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามแนวทฤษฎีใหม่ได้

         

       กรมชลประทาน จึงกำหนดแผนการขุดลอกแก้มลิงหนองแสง ซึ่งมีปริมาณความจุเดิม 550000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 780,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างฝายพร้อมท่อลอดถนน อาคารรับน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้ราษฎรจำนวน 500 ครัวเรือน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรได้ถึง 1,330 ไร่ ได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคำขอตั้งงบประมาณปี 2567

นางปณิตตา หอมโคกค้อ เกษตรกร หมู่บ้านท่าสวรรค์ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เผยความรู้สึกแก่ผู้สื่อข่าวว่า โครงการขุดลอกแก้มลิงหนองแสงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นในฐานะที่เป็นเกษตรกรประกอบอาชีพเกษตรทำไร่ ทำนา แต่ก่อนที่ผ่านมาเราจะใช้น้ำตามแหล่งน้ำ  ก็คือบ้านเราจะมีแหล่งน้ำสาธารณะประมาณ 5 แหล่งน้ำตามคลองหมู่บ้าน แล้วก็มีแม่น้ำชีไหลผ่าน พอหน้าฝนก็จะท่วม พอหน้าแล้งน้ำก็จะหมด ก็จะใช้แบบอยู่ตามมีตามเกิด ตามความเคยชินของเราที่อยู่กันแบบชุมชนหมู่บ้าน ก็คือเราอยู่สภาพแบบนี้อยากได้รับการแก้ไขมานานแล้ว

“ตอนน้ำท่วมลำบากมากเพราะว่าแถวนี้จะทำไร่นา เสียหายทั้งหมด  ก็อย่างชาวบ้านที่อยู่แถวนี้เลี้ยงหมูเลี้ยงอะไรก็เสียหายโดนน้ำท่วม ปีที่ผ่านมาหนักมาก ไร่นาก็จะไม่ได้เลย น้ำจะขึ้นเร็วแล้วก็ลงช้า แต่เราก็ต้องอยู่ให้ได้  ก็อยากได้รับการแก้ไข ว่าเราจะทำยังไงไม่ให้มันขึ้นมาเร็วขนาดนี้ เพราะเขาจะขึ้นมาชาวบ้านก็จะตั้งตัวไม่ทัน  เพราะว่ามันมีน้ำชีอยู่ข้างล่าง ท่วมทุกๆปีแล้วแต่จะมากจะน้อย ปีไหนฝนมากเหมือนปีที่แล้วก็ท่วมมาก แต่ก็คือท่วมทุกปี สิ่งที่ชาวบ้านอยากให้ช่วยแก้ไขก็คือเรื่องน้ำท่วม ก็มีหน่วยงานต่างๆที่เราเสนอเข้าไป ฝ่ายผู้นำเสนอเข้าไปก็เข้ามาช่วยเหลือ เขามาทำผนังรอบหนึ่งแล้วกั้นแม่น้ำชี แต่เอาไม่อยู่ อยากให้มาช่วยให้เวลาน้ำท่วมต้องให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้  วลาน้ำแล้งก็ให้เราเหลือใช้บ้าง ที่ผ่านมาเวลาท่วมก็ท่วมเลย  ตอนลงเขาก็ไปหมดเลย เลยทำให้ชุมชนเราลำบาก”

นางปณิตากล่าวสีหน้าเปี่ยมความหวังว่า ถ้ามีโครงการขุดลอกนี้ขึ้นมาคิดว่าเราสามารถที่จะปลูก  เพาะปลูกพืชผัก ไร่นา อาจจะทำนาปรังได้ หรือทำอะไรได้  ก็คิดว่าเกิดประโยชน์กับชุมชนมาก  น้ำใช้และน้ำประปาหมู่บ้านก็จะใช้หนองน้ำสาธารณะดึงขึ้นไป จะไม่ลำบากทีนี้พอถึงหน้าแล้งจริงๆบางทีก็น้ำขึ้นไม่ทันไม่ไหว  ชาวบ้านก็ต้องรอ ก็ต้องทำใจอยู่กับเขาให้ได้ ถ้าแก้ไขได้จะมีประโยชน์มาก เพราะเราใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนก็คือแหล่งน้ำ

         

       “รู้สึกปลาบปลื้มใจมาก รู้สึกยินดีแล้วก็เป็นเกียรติมาก ชาวบ้านได้ยินว่าท่านจะลงมา ชาวบ้านหลายคนร้องไห้ ภูมิใจมาก ที่ว่าจะได้รับการดูแล เราจะไม่ถูกทอดทิ้งแล้วในชุมชน ก็ขอขอบคุณทุกๆท่านทุกๆหน่วยงาน  ที่ลงมาช่วยเหลือพวกเรา  ออยากจะขอขอบคุณมากๆ  ชาวบ้านจะได้มีความหวัง จะได้ไม่อดอยากเหมือนที่ผ่านมา  จะได้ไม่ลำบาก ก็ไม่ถึงกับอดอยากแต่เราก็จะไม่ลำบาก”นางปณิตา หอมโคกค้อกล่าวทิ้งท้าย

รายงานพิเศษ/เสกสรร  สิทธาคม