สพฐ.จับมือ สธ.ตรวจสอบระบบ!ดูแลสุขภาพจิต น.ร.วิถีใหม่ เน้นความปลอดภัย

สพฐ.จับมือ สธ.ตรวจสอบระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียนวิถีใหม่ ในมิติความปลอดภัย

เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) บรรยายพิเศษเรื่อง "การดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล" จัดโดยผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยมีทีมกรมสุขภาพจิต และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อยู่ในโครงการฯ ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียน, ครูผู้ดูแลระบบช่วยเหลือนักเรียน และตัวแทนครูที่ปรึกษา รวมจำนวน 60 คน จากโรงเรียน 60 แห่ง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) หนองบัวลำภู เขต 2 ร่วมฟังการบรรยายผ่านระบบ Zoom Meeting

โดยสรุปประเด็นการบรรยายของ ดร.เกศทิพย์ เรื่องการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนวิถีใหม่ และผลจากการใช้ School Health Hero ในมิติความปลอดภัยของนักเรียน ที่จะเชื่อมโยงทั้งงานจัดการเรียนการสอน แนะแนวและดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ผ่าน platform ที่มีผู้ดูแลนักเรียนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมกับครู พร้อมเติมเสริมความเข้มแข็งทางสุขภาพจิตให้นักเรียนอย่างทันท่วงที

รวมทั้งครูสามารถพัฒนาตนเองผ่าน E-learning ในการดูแลนักเรียนเบื้องต้นตามวิธีของแพทย์จิตวิทยาวัยรุ่นตามหลักการที่ถูกต้อง ตรงจุด แก้ทัน เสริมจิตให้เข้มแข็ง เป็นจุดเริ่มต้นความพร้อมในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าสังคมได้อย่างปลอดภัย มีความสุขในการเรียนในทุกวิชาต่อไปในอนาคต

เรื่องสถิติการเข้าใช้ระบบของโรงเรียนในระยะแรก 2,300 แห่ง นักเรียนกว่า 300,000 คน มีนักเรียนที่ได้รับการติดตามทั้งปีกว่า 5,526 คน และได้รับการดูแลช่วยเหลือจนอาการดีขึ้น 3,832 คน จากการดูแลของคุณครูที่ได้รับคำแนะนำจากระบบ โดยให้คำปรึกษาเบื้องต้น, ปรับพฤติกรรม, พัฒนาทักษะชีวิต, ปรึกษาครูแนะแนวหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่การศึกษา และขอรับคำปรึกษาจาก Hero Consultant ในระบบจำนวน 681 คน

เรื่องจุดเด่นและข้อดีของโปรแกรม ได้แก่ เชื่อมต่อกับข้อมูล DMC จึงเป็นการช่วยลดภาระครูในการกรอกข้อมูล และรายละเอียดต่างๆมีความสะดวกเข้าใช้งานระบบ เพื่อเฝ้าระวังเรียนรู้ ดูแล รับการปรึกษา และส่งต่อด้านสุขภาพจิต, ประกอบด้วยข้อคำถามเพียง 9 ข้อ หรือ 9S Plus ก็สามารถวิเคราะห์เด็กและดูแลได้ทันท่วงที, โปรแกรมใช้ง่ายและช่วยในการดูแลสุขภาพจิตนักเรียน หากพบนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัญหาสามารถ Chat กับบุคลากรสาธารณสุขด้านสุขภาพจิต (Hero Consultant) ได้ และเป็นการทำงานและสร้างฐานข้อมูลร่วมกันในการดูแลแก้ไขและส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียน

เรื่องความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษา หลังการใช้ระบบฯ สะท้อนว่า สะดวกในการแปลผล, สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้ และเรียกใช้ข้อมูลได้ทุกที่ ทุกเวลา, ได้แนวทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเบื้องต้น, ได้แนวทางในการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเบื้องต้น, เป็นช่องทางในการคัดกรองนักเรียนที่อยู่ในภาวะปกติ เสี่ยงหรือเสียงสูง และสามารถเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนด้านสุขภาพจิตได้อย่างต่อเนื่อง, เข้าใจภาวะอารมณ์ของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป และพฤติกรรมที่แตกต่างกันของนักเรียน และคลิปวิดีโอสามารถเป็นคู่มือให้ครูแนะแนว หรือครูประจาชั้นในโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลนักเรียนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนตามความสนใจและถนัด เพื่อลดความเครียดและเสริมความสุขให้กับนักเรียนผ่านการสำรวจความสามารถพิเศษ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการคัดกรองวิเคราะห์ วินิจฉัยผู้เรียนรายบุคคล ทราบถึงแววความสามารถพิเศษและสามารถจัดการศึกษานักเรียนรายบุคคล ซึ่งประเภทประเภทความสามารถพิเศษ ได้แก่ ภาษา,คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, เครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์, การได้ยิน, การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ, สังคมและอารมณ์ และศิลปะ มิติสัมพันธ์

สำหรับกระบวนการของระบบ ประกอบด้วย สังเกตพฤติกรรมของนักเรียน, นักเรียนประเมิน/ครูประเมิน, กรอกข้อมูลเข้าระบบ, ระบบประมวลผล, ครูนำผลการประเมินไปใช้พัฒนานักเรียน

ปรากฏผลที่ได้คือ เติมเต็มการจัดการเรียนรู้ตามความถนัด เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้สื่อสารทางภาษา เน้นกระบวนการคิด ทักษะการแก้ปัญหาฯ การทำงานเป็นทีม ออกแบบใช้ความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดทักษะอาชีพ เช่น ครูสอนวิทยาศาสตร์ / นักวาดการ์ตูน / ช่างออกแบบกราฟิก / นักวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ

ในการนำผลไปใช้นั้น แบ่งเป็น ครู : ใช้วางแผนการจัดการเรียนรู้รายบุคคลและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้, โรงเรียน : ใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, สพท. : ใช้ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาระดับเขต และ สพฐ. : เป็นภาพรวมของประเทศในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา

"ทั้งนี้ สิ่งที่ฝากคือ นักเรียนทุกคนมีความแตกต่างและหลากหลาย มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลจึงจะสามารถส่งเสริม และพัฒนานักเรียนได้เต็มตามศักยภาพ" รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)