ภาคใต้น้ำท่วมหนัก 'บิ๊กอุ้ม' - เลขาธิการ กพฐ. ชื่นชมเขตพื้นที่ระดมช่วยเหลือ ร.ร.-ครู-นักเรียน

 

ภาคใต้น้ำท่วมหนัก 'บิ๊กอุ้ม' - เลขาธิการ กพฐ.

ชื่นชมเขตพื้นที่ระดมช่วยเหลือ ร.ร.-ครู-นักเรียน

 

26 ธันวาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2566 มีมรสุมที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นั้น

 

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) มีข้อห่วงใยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฉับพลัน น้ำท่วมบ้านเรือนเสียหายเป็นอย่างมาก พร้อมส่งกำลังใจไปยังสถานศึกษา นักเรียน ครู ในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับรายงานว่าประสบความเดือดร้อนมากที่สุด

 

หากโรงเรียนใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ตลอดเวลา หรือหากเกินกำลังพื้นที่ให้ประสานไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และหากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนสูงสุดให้ประสานมายังส่วนกลาง ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุด

  

กล่าวอีกว่า ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ซึ่งนำโดย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. และ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังและประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่และหน่วยงานในจังหวัด เตรียมการป้องกันและรับมือตามแผนป้องกันและแผนเผชิญภัยพิบัติที่ สพฐ. มีอยู่แล้ว

 

ซึ่งจากรายงาน พบว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ จังหวัดนราธิวาส มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ ใน 13 อำเภอ รวม 182 แห่ง รองลงมา คือ จังหวัดยะลา จำนวน 52 โรงเรียน จังหวัดปัตตานี 16 โรงเรียน และ มีรายงานคุณครูเสียชีวิตหนึ่งท่านที่จังหวัดนราธิวาส จากน้ำป่าพาดินโคลนถล่มบริเวณที่พักอาศัย ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 3 ได้ร่วมแสดงความเสียใจ มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวคุณครู ไปเบื้องต้นแล้ว

 

 

ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่ระดับน้ำยังท่วมสูงและไหลเชี่ยวกราก ทาง สพฐ. ได้ประสานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้เน้นย้ำผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่ง ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นสำคัญ หากมีความเสี่ยงในการเดินทางมาโรงเรียน ผู้บริหารสามารถสั่งปิดสถานศึกษาได้ทันที

 

อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ ถือว่าหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี จึงขอให้ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษา ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด สำรวจและซ่อมแซม อาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า-ประปา ให้พร้อมรับสถานการณ์ หากมีความเสียหายต้องซ่อมแซมให้เร่งดำเนินการและแจ้งต้นสังกัด

 

 

"ขอชื่นชมผู้บริหารและบุคลากรของเขตพื้นที่ทุกคน ที่แม้นตนเองก็เป็นผู้ประสบภัย แต่ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ให้การช่วยเหลือส่งมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแก่ครูและบุคลากร รวมถึงครอบครัวของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จัดสถานที่ในโรงเรียนที่ไม่โดนน้ำท่วม ให้เป็นที่พักพิงให้แก่ชุมชม ซึ่งก็ขอให้รายงาน ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ทุกระยะ เพื่อส่วนกลางจะได้ช่วยประสานพลัง สนับสนุนการช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์นี้ได้อย่างปลอดภัยต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

  

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage