ค.อ.ท.บุกสภายื่นแก้ไของค์ประกอบ-ปรับอำนาจ"บอร์ดนโยบายการศึกษาชาติ"

ค.อ.ท.บุกสภายื่นแก้ไของค์ประกอบ-อำนาจ

"บอร์ดนโยบายการศึกษาชาติ"

บทบาทหน้าที่ล้นเหลือ! 'ไม้จิ้มฟัน'ยัน'เรือรบ'

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ตัวแทนองค์กรครูในนามเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) นำโดยนายธนชน มุทาพร รักษาการประธาน ค.อ.ท. และคณะจำนวน 10 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายตวง อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งขาติ พ.ศ. ...เรื่องเสนอให้เพิ่มองค์ประกอบและปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมี รศ.ดร.สุรวาท ทองบุ รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ และ ดร.วีรบูล เสมาทอง กมธ.วิสามัญฯ ร่วมรับมอบหนังสือ พร้อมทั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

ทั้งนี้ หนังสือเรื่องเสนอให้เพิ่มองค์ประกอบและปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีใจความว่า "ตามหนังสือที่อ้างถึงหนังสือเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย ที่ ๐๑/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๕ เรื่องร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. ...ที่เสนอโดยผู้ประกอบวิชาชีพครูตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๔ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้จัดทำข้อเสนอและขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ให้นำไปพิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...(ฉบับที่ผ่านคณะรัฐมนตรี)

โดยในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...(ฉบับที่ผ่านคณะรัฐมนตรี) ในมาตรา ๘๘ ที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่ในองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯกลับขาดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กล่าวคือในองค์ประกอบของคณะกรรมการฯไม่มีภาคส่วนที่สำคัญที่สุดมาเป็นองค์ประกอบ คือภาคส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อการนำสู่การปฏิบัติของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

นอกจากนั้น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติยังไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้หน่วยงานการศึกษาได้มีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง แต่เป็นลักษณะของการรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ในคณะกรรมการเกือบทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้า เหนี่ยวรั้งการปฏิรูปการศึกษา ไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของทักษะการเรียนรู้แห่งอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑

ดังนั้น เพื่อให้องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้มีความเหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุด องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) จึงขอเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ดังนี้

1.ให้ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานการศึกษา สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างอิสระและคล่องตัว โดยให้ยึดหลักการเอกภาพทางนโยบาย หลากหลายการปฏิบัติ

2.ให้เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดยให้มีผู้แทนของผู้กอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุดที่จะได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหน่วยงานการศึกษาให้กับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้มีข้อมูลสำคัญเพียงพอต่อการไปกำหนดนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...อีกเช่นเคย"

ชมคลิป! แกนนำ ค.อ.ท.แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงเหตุลการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งขาติ พ.ศ. ...เสนอให้เพิ่มองค์ประกอบและปรับแก้บทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)