แถลงการณ์ ค.อ.ท.ว่าด้วย!สมควรยุบ “กศจ.-ศธจ.-ศธภ.” ตามคำสั่ง คสช.ฉบับ ๑๙

แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย หนุนมติคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๓ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ ยุบ “กศจ.-ศธจ.-ศธภ.”

จากมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (สภาร่วม ส.ส.-ส.ว.) เสียงข้างมากเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๕ ได้พิจารณามาตรา ๓ มีมติให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ๕ ฉบับ ซึ่งรวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560

ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา (ห้ามไม่ให้มี ครู/ผอ.ร.ร.เป็นบอร์ดใน กศจ.) และให้มีศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค (ศธจ./ศธภ) โดยตัดอำนาจการบริหารงานบุคคลหรืออำนาจการบังคับบัญชาจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ที่มีต่อครูและผู้บริหารโรงเรียน ไปเป็นอำนาจของ ศธจ.นั้น

เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู มากกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศ ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เรื่องสนับสนุนมติคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.พ.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...พิจารณาในมาตรา ๓ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าว

โดยระบุ "เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมติดังกล่าวนี้ เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ ได้ใช้บังคับมามากกว่า ๕ ปี แล้วมิได้ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ออกคำสั่งแต่อย่างใด

แต่กลับทำให้การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคสะดุด ฉุดรั้งเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น บั่นทอน บอนไซ และด้อยค่าหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยตรง

การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ จากการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ อยู่ในขณะนี้ ที่ได้ยื่นหนังสือให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ได้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยให้มีหน่วยงานของผู้ได้รับการกระทบได้ยังคงอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาต่อไป

และได้ยื่นหนังสือให้กับนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...เพื่อให้ทบทวงมิติดังกล่าวนี้ ไม่ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย โดยแบ่งแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลขององค์กรที่ใช้อำนาจของ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ อันเป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนที่ไม่ให้อำนาจทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ไปรวมกันอยู่ที่คนๆ เดียว หรือองค์กรเดียวกัน

การที่ผู้ได้รับผลกระทบได้ไปเรียกร้องพยายามให้ฝ่ายบริหารให้เข้ามาแก้ไขให้ยังคงคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ ต่อไป จึงเป็นความพยายามที่จะให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ จึงผิดหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ให้แบ่งแยกอำนาจ ๓ ฝ่าย เป็นอิสระเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ถึงแม้ฝ่ายบริหารจะเป็นเจ้าของร่างพระราชการการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ...แต่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการใช้อำนาจการออกกฎหมายปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับหลักการในวาระที่ ๑ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

การออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ให้ทบทวนมติดังกล่าวนั้น ค.อ.ท.เข้าใจในความวิตกกังวลของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวของผลการลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...

แต่ ค.อ.ท.มีความเห็นว่า มติดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่ยุติว่า จะกระทบกับองค์กรหรือสถานภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะจะมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ออกตามความมาตรา ๑๐๖ แห่งร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะไปกำหนดอำนาจหน้าที่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และยังเป็นโอกาสที่จะกำจัดอุปสรรคสำคัญของการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ ตลอดเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา โดยรัฐสภา

ดังนั้น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายองค์วิชาชีพครูทั่วประเทศมากกว่าสามร้อบองค์กร จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

๑.ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้เคารพในหลักการแบ่งอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลของการใช้อำนาจทั้ง ๓ ฝ่าย ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้อิสระกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ของฝ่ายนิติบัญญัติทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้เป็นแบบอย่างของการเคารพการใช้อำนาจอธิปไตยของทั้ง ๓ ฝ่ายอย่างเคร่งครัด

๒.เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) สนับสนุนมติเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ ที่มีมติในมาตรา ๓ ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๙/๒๕๖๐ เพราะเป็นมติที่ยังสามารถหาช่องทางอื่นให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ ไปบัญญัติไว้ที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการได้

ทั้งนี้ เพื่อความสง่างามของระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เป็นบรรทัดฐานของการเคารพเสียงข้างมากต่อไป"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)