วษท.พิจิตร กับโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส

เสวนากับบรรณาธิการ

วษท.พิจิตร กับ โครงการอาชีวะ  สร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส

 

“…ขณะนี้ ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง  มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา  ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้  หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เขาปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของมูลนิธิพระดาบส เมื่อ พศ. 2518  (อ้างอิงหนังสือเรื่อง โรงเรียนพระดาบส โอกาสครั้งที่สองของชีวิต) ที่ก่อเกิดมูลนิธิพระดาบสและโรงเรียนพระดาบส ตราบจนปัจจุบัน

“...1) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง  2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง  3) มีคุณธรรมและ 4) มีงานมีอาชีพสามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครัวได้และเป็นพลเมืองที่ดีมีระเบียบวินัย...

พระบรมราโชบายด้านการศึกษามุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน4 ด้านในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพ โดยยึดหลักสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานด้านการช่างการอาชีพในระบบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หรือกล่าวได้ว่ายึดเดินตามรอยพระยุคลบาทมาแต่ต้นการจัดการเรียนการสอนอาชีวะ

จากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระราชดำริให้เกิดการเรียนการสอนสายอาชีพ แก่กลุ่มประชาชนด้อยโอกาส ด้วยขาดแคลนทุนทรัพย์เพราะยากจน แต่มีความตั้งใจอยากมีความรู้ มีทักษะฝีมือประกอบอาชีพ สอศ.น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยราษฎร จึงได้มุ่งสืบสานพระราชปณิธานจัดการเรียนการสอนอาชีวะยึดสนองพระราชปณิธาน

โดยเฉพาะมุ่งไปที่กลุ่มที่ด้อยโอกาสเพิ่มเข้ามา ทั้งเยาวชนคนทั่วไป ได้มีโอกาสมมีช่องทางหาความรู้ความสามารถทักษะฝีมือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการไปทำอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเองครอบครัวสร้างฐานะด้วยวิถีแห่งคนดีมีฝีมือ โดยผ่านการฝึกฝีมืออาชีวะ และได้ซึมซับหล่อหลอมให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร มีความสำนึกในความกตัญญูไปโดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างคนเป็นกำลังช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง และที่สำคัญมีสำนึกเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนอันเกิดจากสำนึกจิตอาสา โดยไม่ถูกความโลภครอบงำ

สอศ.ได้สืบสานพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร โดยจัดการเรียนการสอนแบบให้โอกาสเยาวชนทั่วไป รวมถึงคนที่ครอบครัวยากจน ประชาชนที่ด้อยโอกาส  เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่อาจเรียนในระบบปรกติได้ แต่มีความต้องการอยากเรียนอยากมีทักษะฝีมือในการทำอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม

จึงได้จัดการเรียนการสอนตามแนวพระราชดำริโรงเรียนพระดาบส คือ โครงการ อาชีวะพระดาบส หรือโครงการ “อาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวโรงเรียนพระดาบส) ขึ้นมาในกลุ่มสถานศึกษาสังกัด สอศ.นำร่อง 12 แห่ง รับเข้าเรียนแบบเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี  รุ่นละไม่เกิน 30 คน ด้วยงบประมาณของ สอศ.ในการดำเนินงาน และทั้งหมดนี้ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพ ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน มีอาชีพ มีงานทำร้อยละ 100

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญการเรียนการสอนอาชีพอันสามารถเกื้อกูลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ได้  สอศ.จึงขยายโครงการต่อ จัดทำโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) หรือที่มีผู้เรียกสั้นๆว่า อาชีวะพระดาบส ในสถานศึกษาภาครัฐ จากเดิม 12 แห่ง เพิ่มขึ้นอีก 18 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมจำนวน 30 แห่ง

โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. เป็นผู้คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการอาชีวะพระดาบส  ตามที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอดำเนินโครงการระยะ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบ พ.ศ. 2566-2575 กรอบวงเงิน 1,169 ล้านบาท

การเกิดโครงการอาชีวะพระดาบส เพื่อผลิตนักเรียนช่างสืบสานพระราชดำริของพระราชา ย่อมเป็นประโยชน์สุขแท้จริงกับคนไทย ประเทศไทย อย่างมหาศาล การจัดการเรียนการสอนนี้   ทางสำนักข่าว การศึกษาออนไลน์ edunewssiam เห็นคุณค่าและความดีงามจากโครงการนี้ ที่สังคมจะได้รับทั่วกัน

วิทยาลัยสังกัดอาชีวะจาก 12 แห่งเป็น 30 แห่งทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส)

1.วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จ.ราชบุรี 2.วิทยาลัยการอาชีพเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 3.วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จ.เพชรบุรี 4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี 5.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี 6.วิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง จ.สุโขทัย 7.วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด จ.ตาก 8.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร 9.วิทยาลัยการอาชีพอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ 10.วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา จ.น่าน 11.วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จ.ปัตตานี 12.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว 13.วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 14.วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จ.ลำปาง 15.วิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จ.ลำพูน

16.วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 17.วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ 18.วิทยาลัยการอาชีพขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 19.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร จ.ยโสธร 20.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด 21.วิทยาลัยการอาชีพศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู 22.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี จ.อุดรธานี 23.วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม 24.วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 25.วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จ.ลพบุรี 26.วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จ.นนทบุรี 27.วิทยาลัยการอาชีพหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 28.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จ.ชุมพร 29.วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า จ.พังงา และ 30.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จ.ระนอง

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวผ่านสื่อมวลชนอย่างมีความสุขว่า การเดินตามรอยพระยุคลบาทสืบสานพระราชปณิธาน และมุ่งสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริ โดยน้อมนำนำหลักสูตรและวิธีการโรงเรียนพระดาบส มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ(ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) 

จากผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมา สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้คนในบ้านเมืองเราได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนที่มีทักษะวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน ทำให้นำทักษะฝีมือไปประกอบอาชีพสร้างฐานะครอบครัวพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น และสร้างคนมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิตได้อย่างลงตัวมากขึ้น สร้างคนดีเป็นกำลังเกื้อกูลสังคมด้วยจิตอาสาให้โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน

เลขาธิการ กอศ.ยืนยันว่า จากรายงานผลการประเมินคุณภาพการดำเนินโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือฯ โดยผู้รับผิดชอบที่ลงพื้นที่ประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563–มีนาคม 2564 ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพทั้ง 12 แห่ง ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน ร้อยละ 100 นับตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มดำเนินโครงการ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ขยายการศึกษาพิเศษอาชีวะพระดาบสดังกล่าวในรั้ววิทยาลัยสังกัดอาชีวะจาก 12 แห่งเป็น 30 แห่งทั่วประเทศแล้ว

“การจัดการเรียนการสอนโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือฯ เป็นต้นแบบการดำเนินโครงการ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ที่ดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 88 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคนิค ที่มีความพร้อมที่จะเป็นสถานศึกษานำร่องในการจัดการศึกษารูปแบบอยู่ประจำ โดยนำรูปแบบโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) มาใช้จัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้กว่า 5,000 คน เรียนฟรี มีหอพัก มีอาหาร ที่สำคัญมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย ซึ่งสาขาที่เปิดสอนจะเป็นหลักสูตรที่เป็นความต้องการของตลาด สามารถการันตีได้ว่าจบไปแล้วมีงานทำแน่นอน” ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ.กล่าวแบบปลื้มสุด ๆ

ยกตัวอย่าง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร (วษท.พิจิตร) จ.พิจิตร เป็นหนึ่งในวิทยาลัยสังกัดอาชีวะสถานศึกษานำร่อง ดำเนินโครงการโดย นายธเนศ คงวังทอง ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์และบุคลากรวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสามสิบสถานศึกษาสังกัดสอศ. ร่วมทุ่มเทจัดการเรียนการสอนอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส  เพื่อให้โอกาสและเกื้อกูลกลุ่มบุคคลกลุ่มเป้าหมาย สนองพระราชปณิธาน สนองพระบรมชาโชบาย อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรไทย  สร้างคนดีคนมีความรู้ความสามารถให้ประเทศชาติบ้านเมือง

ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผอ.ธเนศ คงวังทอง กล่าวเกริ่นว่า หลักในการดำเนินการของโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวโรงเรียนพระดาบส) สนองพระบรมราโชบายฝึกอาชีพให้กับประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และต้องการฝึกประสบการณ์อาชีพที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที  หลังสำเร็จการศึกษาจากโครงการฯ 

ผอ.วษท.พิจิตร  บอกอีกด้วยว่า ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา แต่ขอให้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ คำนวณเลขอย่างง่ายได้ เช่น รู้หลักการและวิธีในการบวก ลบ คูณ หาร

และให้รายละเอียดว่า ตลอดระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ( ยกเว้น ทำทรัพย์สินของราชการเสียหายด้วยความตั้งใจ หรือขาดสติ )ระยะเวลาการเรียนและฝึกประสบการณ์ทักษะอาชีพ จำนวน 1 ปีประกอบด้วย เรียนรู้และฝึกทักษะประสบการณ์ในงานอาชีพเบื้องต้นในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร เป็นเวลา 5 เดือน ฝึกทักษะความชำนาญเฉพาะทางอีก เป็นเวลา 4 เดือน

โดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร ฝึกงานในสถานประกอบการอีก 2 เดือน จากสถานประกอบการในจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร หรือจังหวัดใกล้เคียงแล้วกลับสู่วิทยาลัยฯ เพื่อเตรียมความพร้อมและเตรียมตัวก่อนเข้าสู่อาชีพ รวมทั้งการจัดส่งชิ้นงาน เอกสาร ที่ค้างส่งกับครูผู้สอนให้เรียบร้อย เป็นเวลา 1 เดือน

ทักษะอาชีพที่ฝึกมี อาชีพช่างไฟฟ้า อาชีพช่างไม้ อาชีพช่างยนต์( เน้นช่างยนต์เล็ก) อาชีพช่างเชื่อม อาชีพช่างอีเลคทรอนิค อาชีพช่างก่อสร้าง/งานปูน/งานปูกระเบื้อง โดยทักษะพื้นฐานอาชีพ เช่น ช่างตะไบ เขียนแบบ การทำการเกษตรแบบพอเพียง รวม 9 ฐานฝึก

 สภาพความเป็นอยู่ระหว่างเข้าเรียนในโครงการฯ วิทยาลัยได้จัดเตรียมอาคารที่พัก พร้อมเครื่องนอน ให้ผู้เรียนทุกคนโดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย วิทยาลัยจัดเตรียมอาหาร หรือวัสดุปรุงอาหารให้ผู้เรียนวันละ 3 มื้อตลอดการเรียน โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และวิทยาลัยจัดอุปกรณ์พยาบาล ยารักษาโรคทั่วไป ประจำอาคารที่พัก จัดห้องนันทนาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้พักผ่อนหลังเสร็จภารกิจการเรียนในแต่ละวัน 

ทั้งนี้ วษท.พิจิตร เตรียมอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการศึกษาให้ผู้เรียนได้ใช้งาน รวมทั้งระบบ อินเตอร์เนท คลอบคลุมพื้นที่ในวิทยาลัยฯ จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ในการฝึกอาชีพทุกอาชีพให้ผู้เรียนใช้ประจำตัว คนละ 1 ชุด ทุกช่างอาชีพฯลฯ สรุปว่าผู้เรียนแทบจะเดินตัวเปล่าเข้าไปเป็นผู้เรียนได้เลย ภายใต้การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วิทยาลัยกำหนด

 

ผอ.ธเนศ ย้ำว่า เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การปกครอง สนองพระราชปณิธานสร้างคนมีทักษะฝีมือและเป็นคนดี และเพื่อเป็นไปตามระเบียบเรียบร้อย ผู้เรียนจะต้อง ปฏิบัติตน คือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ไม่สร้างความแตกแยกหรือทะเลาะวิวาท ปฏิบัติตนตามตารางการปฎิบัติในแต่ละวัน อย่างเคร่งครัด ไม่แสดงหรือมีพฤติกรรมเสพสิ่งเสพย์ติดและสิ่งมึนเมา ร่วมรักษาความสะอาดของบริเวณที่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตนที่ขัดแย้งกับระเบียบของโครงการฯกำหนดไว้ ร่วมกิจกรรมภายในกลุ่มหรือกิจกรรมที่วิทยาลัยฯ กำหนด รวมถึงพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมด้วยจิตอาสา

 รูปแบบการฝึกทักษะอาชีพพื้นฐานตามฐานฝึกภายใน วษท.พิจิตร หมุนเวียนฐานฝึกๆละ 14 วัน รวมเวลา 5 เดือน ฝึกสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดพักผ่อน วันอาทิตย์ แล้วระหว่างการฝึกทักษะพื้นฐาน ผู้เรียนสามารถหารายได้จากการรับจ้างในอาชีพที่ฝึก หรือประดิษฐ์สิ่งของจำหน่ายได้  อย่าง เช่น รับจ้างติดตั้งสายไฟฟ้าในอาคารขนาดเล็ก รับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำโต๊ะเก้าอี้ ของใช้ในบ้านจากงานไม้ ฯลฯ

ฝึกทักษะอาชีพพื้นฐานครบ 5 เดือนแล้ว วิทยาลัยฯจะส่งผู้เรียนไปฝึกทักษะประสบการณ์และความชำนาญเพิ่มขึ้นอีก 4 เดือน ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้เรียนต้องจัดเตรียมอาหาร ในแต่ละวันเอง โดย  ซึ่งวิทยาลัยฯจะเตรียมไว้ให้ จบแล้วศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร จะส่งผู้เรียนไปฝึกงานในสถานประกอบการ เป็นเวลา 2 เดือน  จบแล้วเตรียมตัวสอบเพื่อขอรับใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานตามระเบียบและขั้นตอนของศูนย์ฯ

ครบจบตามหลักสูตรของโครงการฯแล้วผู้เรียนจะได้รับการรับใบรับรองการผ่านหลักสูตร อาชีวะสร้างช่างฝีมือฯจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ใบรับรองการผ่านหลักสูตรของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร  ถ้าสอบผ่านการประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะได้รับ ใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน ของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

“ในแต่ละรุ่นของโครงการการจัดการเรียนการสอนอาชีวะสร้างช่างฝีมือ (ตามแนวโรงเรียนพระดาบส) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) พิจิตร สามารถรับผู้เรียนแต่ละปีได้ไม่เกิน 30 คน” ผอ.ธเนศ คงวังทอง สรุปหลักการ

ผอ.วษท.พิจิตร  ให้รายละเอียดอีกว่า โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ(ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตรในปีนี้  มีนักเรียนสนใจจำนวนมากขึ้น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 5 มีผู้เรียน 21 คน ผลสัมฤทธิ์หลังจบการศึกษาในรุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 ผู้เรียนสามารถนำเอาวิชาความรู้ทักษะความสามารถ ทางด้านช่างไปประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว และบางส่วนไปทำงานในสถานประกอบการ ระยะเวลาเรียน 1 ปี

“โครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือ(ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส) ถือว่าเป็น โครงการที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้ขาดโอกาส  ผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษา ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีความตั้งใจที่จะมีทักษะฝีมือมีวิชาชีพ ก็สามารถมาเรียนได้ โครงการนี้เป็นโครงการในพระราชดำริการที่ผมได้มาสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ถือว่าเป็นบุญอย่างใหญ่หลวงที่ได้ฝึกฝนฝึกอาชีพสอนให้คนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสที่จะมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะทางด้านวิชาชีพเพื่อนำวิชาชีพที่เรียนรู้ไปประกอบอาชีพหาเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นปัญหาของสังคม”

นายธเนศ คงวังทอง ผอ.วษท.พิจิตร กล่าวและบอกถึงความรู้สึกว่า มีความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแนวพระราชดำริ และที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน อันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

พระองค์ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกลด้วยเพราะพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ ทรงมองเห็นในเรื่องของผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดทุนทรัพย์ ยากจน ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเป็นบุคคลที่เป็นภาระของประเทศชาติได้ แต่พอมีโรงเรียนพระดาบส จึงทำให้ปัญหาของคนที่จะว่างงานไม่มีงานทำ หรือคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสทางการศึกษาทางด้านวิชาชีพแล้วนำวิชาชีพไปหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดำรงชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืนด้วยวิถีพออยู่พอกิน

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒o โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนเกษตรกรรมพิจิตร" ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการขยายการอาชีวศึกษาเกษตรให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520–2524 โดยจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมขึ้นพร้อมกัน จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ

ได้แก่ โรงเรียนเกษตรกรรมกำแพงเพชร โรงเรียนเกษตรกรรมสุโขทัย โรงเรียนเกษตรกรรมแพร่ โรงเรียนเกษตรกรรมลำพูน โรงเรียนเกษตรกรรมพังงา โรงเรียนเกษตรกรรมอุบลราชธานี โรงเรียนเกษตรกรรมยโสธรโรงเรียนเกษตรกรรมสุพรรณบุรี โรงเรียนเกษตรกรรมร้อยเอ็ด โรงเรียนเกษตรกรรมพิจิตร

ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมพิจิตร เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๒๔ และได้ขยายการเปิดสอนหลักสูตรนอกระบบขึ้น ๒ หลักสูตร คือ หลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมระยะสั้น และฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมเคลื่อนที่

ในปีการศึกษา ๒๕๓๐ ได้เปิดทำการสอนหลักสูตรนอกระบบเพิ่มขึ้นอีกหลักสูตร (ปวช. พิเศษ) ตามโครงการ อศ.กช. โดยรับนักเรียนที่จบชั้น ป.๖ อายุระหว่าง ๑๕๒๕ ปี ที่ขาดโอกาสเข้าศึกษาในภาคปกติ หลักสูตรดังกล่าวใช้เวลา ๕ ปี

วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๙ ได้เปลี่ยนชื่อสถานศึกษาเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จนถึงปัจจุบัน

นายธเนศ คงวังทอง กล่าวทิ้งท้ายว่า ปีการศึกษาใหม่ (ภาคเรียน1/2565) แรกนั้นมีนักเรียนระดับชั้นปวช. 1 ที่สมัครใหม่ 75 คน ตามโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โดยเฉพาะประเภทวิชาเกษตรศาสตร์ นักเรียนให้ความสนใจน้อยมาก อาจเป็นเพราะว่า พื้นฐานเบื้องต้นเห็นพ่อแม่ทำนา ทำไร่ ทำสวน คิดว่าคงจะลำบาก ส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะสนใจเรียนทางด้านช่างอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม แต่หลังจากได้เข้ามาเรียนแล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและทัศนคติในเชิงบวกกับโครงการฯ อย่างเห็นได้ชัด แม้แต่ผู้ปกครองเองยังส่งเสียงชื่นชมมาถึงวิทยาลัย  

 

เสวนากับบรรณาธิการ /เสกสรร  สิทธาคม

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)