อ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูฯ ต.บางสักพระมหากรุณาธิคุณ ก่อเกิดปัจจัยพื้นฐานสร้างชุมชนนวัตวิถีก่อประโยชน์สุข

อ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูฯ ต.บางสักพระมหากรุณาธิคุณก่อเกิดปัจจัยพื้นฐานสร้างชุมชนนวัตวิถีก่อประโยชน์สุข

“...ต้องมีน้ำบริโภค  น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น  ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้  ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้  แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...

                                  พระราชดำรัสเมื่อวันที่  17 มีนาคม  2529

                                         ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          ไม่ว่าจะเป็นคน สรรพสัตว์สัตว์ป่าสัตว์บ้าน ต้นไม้ สรรพสิ่งมีชีวิต  ต้องอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงเพื่ออยู่เพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อความเจริญมีชีวิตงอกงาม มีชีวิตปรกติ  น้ำยังเป็นปัจจัยสำคัญทั้งเพื่อการเกษตรผลิตพืชพันธุ์ธันญาหาร และเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดความเจริญความสุขในชุมชนและประเทศชาติ

          ที่ผ่านมาจนวันนี้ เห็นได้อย่างชาชินว่าประเทศไทยพบเจอความแห้งแล้ง ในแต่ละปียาวนาน หลังพ้นหน้าฝนก็เจอแล้งเลย  แม้บางพื้นที่ในหน้าฝนจะพบเจอปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำหลากบ่าท่วมเสียหายบ้าง แต่เป็นช่วงสั้นๆ ประชาชนคนไทย เกือบทุกหย่อมหญ้าจึงเดือดร้อนเรื่องขาดแคลนน้ำเป็นหลักจำเจซ้ำซาก  เฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร  ภาคอุตสาหกรรมก็เดือดร้อน น้ำกินน้ำใช้ก็มีเดือดร้อนกันพอสมควรทีเดียว

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ตราบเสด็จสวรรคต  ทรงครองราชย์ยาวนานถึง  70  ปี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศไทย  ทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกร ตรัสถามถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่  รวมถึงได้ทอดพระเนตรเห็นการดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น  ทำให้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า ราษฎรของพระองค์ที่ประสบความทุกข์ความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต หลักใหญ่คือขาดปัจจัยแห่งชีวิตคือ น้ำ

          จึงได้ทรงทุ่มเทพระองค์สร้าง พัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบในพื้นถิ่นมากมายทั่วทั้งประเทศ  เพื่อกักเก็บน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อประโยชน์สุข พระราชทานไว้ให้เป็นมรดกแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  รวมถึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ตระหนักถึงความสำคญถึงคุณค่าของน้ำ ชีวิตอยู่ที่นั่นน้ำจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่ต้องมี  เพื่อสรรพชีวิตได้ใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อดำรงชีพมีความสุขอย่างยั่งยืนตามวิถีแห่งความพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10  ทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชปณิธาน ดังพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความว่า เราจะสืบสาน  รักษา  และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชดำริ ได้พระราชทานแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเป็นจำนวนมาก  รวมถึงทรงรับโครงการแหล่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย  ตลอดจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พัฒนาโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำเนินการครั้งดำรงพระอิสสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร ให้มีศักยภาพสร้างประโยชน์แก่ราษฎรได้อย่างเต็มที่ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยทรงมุ่งสร้างประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนแก่ราษฎร

ดังเกริ่นข้างต้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพัฒนาแหล่งน้ำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อก่อประโยชน์แก่ราษฎรมากมาย  ทั่วทุกภูมิภาคทั้งประเทศ 

อ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ต.บางสัก อ.กันตัง  จ.ตรัง กำลังจะเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ที่ราษฎรกลุ่มหนึ่งที่เดือดร้อนกำลังจะได้รับประโยชน์ในอีกไม่ช้านี้

พูดจริงๆ มีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้ง 3 หมู่บ้าน ในตำบลบางสักได้มีน้ำกิน น้ำใช้  และแหล่งท่องเที่ยวที่อาศัยน้ำในลำคลองเพื่อให้บริการล่องแพชมป่าชายเลน ออกไปจนถึงชายทะเลที่มีความสวยงาม  หลังจากโครงการฯ แล้วเสร็จ  เราจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำ โดยมีคณะกรรมการจากตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านมาช่วยดูแล  นับตั้งแต่การเก็บน้ำ การปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยวนายประทีป  สังข์ทอง ราษฎรบ้านเขาพลู  ต.บางสัก  อ.กันตัง  จ.ตรัง  หนึ่งในราษฎรที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บางสัก อ.กันตัง กล่าว

นายประทีปบอกด้วยว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อว่าเขาจมป่า อยู่บนเขาพลูที่บ้านน้ำราบ ต.บางสัก  เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทั้งป่าโกงกางที่มีลำคลองคดเคี้ยวออกสู่ทะเล   ภูเขาลูกนี้โอบล้อมด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่แหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำเค็มตามธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงอาชีพประมงชายฝั่งมาเป็นเวลานาน 

“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะชมธรรมชาติและบรรยากาศป่าชายเลน   ก่อนออกสู่ทะเลแหวก ที่มีนามเรียกขานว่า สันหลังมังกรโดยสันทรายจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาตอนน้ำลง ลงไปเดินเล่นถ่ายรูปได้ ซึ่งมีแพของกลุ่มประมงพื้นบ้านให้บริการ  ทำให้ราษฎรมีรายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเลและบริการแพ  แต่ทั้ง 3 ประการ ป่าชายเลน การประมงชายฝั่ง และทะเลแหวก จะต้องอาศัยความสมบูรณ์จากน้ำในลำคลองเขาพลูเป็นสำคัญในการสรรสร้างตามธรรมชาติให้เกิดขึ้น”

          นายประทีป  สังข์ทอง  เล่าต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมามีความเดือดร้อนมากเนื่องจากน้ำในลำคลองพลูเริ่มแห้ง  ในช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร  ป่าชายเลนได้รับกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามามากขึ้น ประมงชายฝั่งต้องออกทะเลไกลกว่าเดิมทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น  จึงเกิดเวทีประชาคมขึ้นและชาวบ้านทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า  ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในคลองพลู โดยให้ อบต.บางสัก ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูพร้อมระบบส่งน้ำฯ  และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565  ที่ผ่านมา  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้  พร้อมด้วยพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังอาคารธรรมาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก อ.กันตัง  เพื่อร่วมประชุมรับฟังรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ฯ พบว่าขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (IEE) แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

แต่มีข้อสรุปว่าเมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูฯ แล้วเสร็จ  จะช่วยราษฎรในเขต ต.บางสัก อ.กันตัง  จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านควนตุ้งกู  หมู่ที่ 3 จำนวน 175 ครัวเรือน บ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 จำนวน 255 ครัวเรือน และบ้านเขาพลู หมู่ที่ 6 จำนวน 110 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 540 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,700 คน มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรประมาณ 450 ไร่ จะมีน้ำใช้ทั้งปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น

 ตลอดถึงชาวบำบลบางสักสามารถร่วมกันสร้างชุมชนนวัตวิถีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผ่านการร่วมบริหารจัดการให้ลำคลองพลูมีน้ำหล่อเลี้ยง และไหลออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ป่าชายเลน และแหล่งท่องเที่ยวประจำหมู่บ้านสามารถให้บริการผู้คนได้อย่างต่อเนื่อง 

เมื่อความสมบูรณ์เกิดขึ้นอย่างครบวงจร มีภูเขา มีป่าบก มีน้ำ มีป่าชายเลน มีชายหาด และมีกุ้ง หอย ปู ปลา ก็สามารถกล่าวได้ว่า ชุมชนนวัตวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ก่อเกิดขึ้นแล้ว ณ อ.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง  อย่างเป็นรูปธรรม

สกู๊ปพิเศษ/เสกสรร  สิทธาคม-เรียบเรียง

สำนักงานกปร.ข้อมูล-ภาพ

............................................