รมว.อว.แจงความคืบหน้าการเยียวยาขึ้นเงินเดือน ขรก.อุดมศึกษา 8 เปอร์เซ็นต์

รมว.อว.ตอบกระทู้ ส.ส.ก้าวไกล แจงความคืบหน้าการผลักดันปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 8% เพื่อเป็นการเยียวยากรณีข้าราชการครูฯได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มไปก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ถึงความคืบหน้าการตั้งกระทู้ถามศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เกี่ยวกับการผลักดันขึ้นเงินเดือน 8% ให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นการเยียวยากรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มร้อยละ ๘ ไปก่อนหน้านี้นานหลายปีแล้วนั้น 

โดย รศ.สุรวาท เผยว่า ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการ อว. ได้ตอบกระทู้ถามของตนแล้ว ซึ่งได้ลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

"ข้าพเจ้า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติกรณีการพิจารณาเยียวยาปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จำนวนร้อยละ ๘ ดังนี้

คำตอบข้อที่ ๑ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอชี้แจงการดำเนินการประเด็นการพิจารณาเยียวยาปรับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ดังนี้ 

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เสนอเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ส่งคืนเรื่องดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาทบทวนความถูกต้องเหมาะสม โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไปประกอบการพิจารณา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีการดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ ได้แต่งตั้ง “คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” โดยมีนายดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน 

และมีประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ประธานที่ปรึกษา ทปสท. ประธานที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ประธานชมรมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ชขอท.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงาน

เพื่อเป็นการเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้ดำเนินการประชุมไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน ๕ ครั้ง เพื่อพิจารณาทบทวนข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านข้อกฎหมายและความเหมาะสม รวมถึงการปรับข้อเสนอการขอรับการจัดสรรเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๖ หน่วยงาน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงาน ก.พ.ร. (ยกเว้นสำนักงบประมาณ)

ภายหลังจากรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่ประชุมคณะทำงานฯในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ ได้สรุป “ข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น” ดังนี้

๑.เสนอขอรับการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เฉพาะสายวิชาการ เป็นเงินเดือน ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้ (วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒) กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒-๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ โดยเสนอขอรับเงินชดเชยเพื่อเยียวยาใน ๒ ส่วน คือ

๑.๑ การปรับเงินเดือน สำหรับผู้ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ จำนวน ๗,๘๙๓ คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๒๖,๓๕๑,๐๕๕ บาท/เดือน

๑.๒ การปรับเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ (เงินเดือนตกเบิก) สำหรับผู้ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และผู้ที่พ้นสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ จำนวน ๑๐,๕๙๑ คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑,๒๕๒,๕๐๗,๗๕๕ บาท

๒.มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตีความว่าการเยียวยาย้อนหลังไปถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ (ก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้) เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือไม่

ทั้งนี้ หากสามารถทำได้ จะมีการเสนอขอรับการเยียวยาตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔-๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการขอรับการเยียวยาย้อนหลังไปถึงวันที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำหรือไม่เป็นธรรม สำหรับผู้ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และผู้ที่พ้นสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ จำนวน ๒๑,๕๘๒ คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๔,๒๖๒,๙๑๕,๒๕๐ บาท โดยให้ทยอยจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจำนวนปีละ ๘๕๒,๕๘๓,๐๕๐ บาท เป็นระยะเวลา ๕ ปี 

สำหรับการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สายสนับสนุน คณะทำงานฯยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่อไป

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

คำตอบข้อที่ ๒ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นถึงความส ำคัญของการดำเนินการกรณีการพิจารณาเยียวยาปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเยียวยาข้าราชการผู้ได้รับผลกระทบ ตามมติคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕

ข้อเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการดำเนินการครั้งนี้ จะครอบคลุมข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เฉพาะสายวิชาการ ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ (ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีผลบังคับใช้) โดยเสนอขอรับเงินชดเชยเพื่อเยียวยาใน ๒ ส่วน คือ

๑. การปรับเงินเดือน สำหรับผู้ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕

๒. การปรับเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๒ (เงินเดือนตกเบิก) สำหรับผู้ที่ยังคงสถานภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ณ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ และผู้ที่พ้นสภาพข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕

ทั้งนี้ แหล่งการใช้งบประมาณ จะเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี

สำหรับประเด็นการขอรับการเยียวยาย้อนหลังไปถึงวันที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำหรือไม่เป็นธรรมว่า สามารถทำได้หรือไม่นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ตีความในประเด็นดังกล่าว

และหากสามารถทำได้ ก็จะมีหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเยียวยาข้าราชการผู้ได้รับผลกระทบย้อนหลัง ในระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔-๑๔ เมษายน ๒๕๖๒ ต่อไป

และสำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สายสนับสนุน คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา จะพิจารณาผลกระทบที่ได้รับจากการปรับเงินขึ้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ในรายละเอียดต่อไป"

คลิกอ่านรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับกระทู้ถามและคำตอบกระทู้ถามเรื่องการผลักดันปรับขึ้นเงินเดือน 8% ให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นการเยียวยากรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มร้อยละ ๘ ไปก่อนหน้านี้  ตามลิ้งค์ T_0060.PDF (soc.go.th)

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)